ศาลอาญาคดีทุจริตฯไต่สวนนานกว่า 9 เดือน ตัดสินจำคุกอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นเวลา 5 ปี และริบเงิน 20 ล้านบาทหรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่า หลังถูกฟ้องข้อหาเรียกรับเงินวิ่งเต้นถึง 20 ล้านบาท เพื่อให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ผู้เสียหายแฉแหลกเบิกเงินสดไปให้ตามสถานที่ต่างๆ 4 ครั้ง ทั้งในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ กทม. ศาลชี้พยานหลักฐานสอดคล้องสั่งลงโทษถึงจำคุก จำเลยยื่น 3 แสนบาทประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 178/2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยื่นฟ้องนาย ฐ. อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 171 และ 175 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 128 และ 129 ประกอบมาตรา 169 และมาตรา 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ 2543 ข้อ 5 (2) (เดิม) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐฯ ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลยรวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว

...

โจทก์ฟ้องว่าคดีสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวัน และศาลจังหวัดสมุทรปราการ ออกหมายขังไว้ในคดีอาญา เมื่อระหว่างเดือน พ.ย.61-12 ธ.ค.61 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 จำเลยอ้างว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการสามารถช่วยเหลือเกี่ยวกับการสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันได้ จำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ. หรือโก พ.เป็นค่าตอบแทน

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า นอกจากโจทก์มีบันทึกถ้อยคำพยานบุคคลที่ให้การต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นยืนยันว่า จำเลยเรียกและรับเงิน 20 ล้านบาท จากนาย พ.รวม 4 ครั้งแล้ว โจทก์ยังมีหลักฐานอื่นเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ที่นาย พ.พบและส่งมอบเงินให้กับจำเลย ครั้งที่หนึ่งวันที่ 7 พ.ย.61 จำนวน 1 ล้านบาท ที่โรงแรมสินทวี จ.ภูเก็ต โจทก์มีรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ตของนาย พ.แสดงให้เห็นว่าวันดังกล่าวนาย พ.เบิกถอนเงินสด 1 ล้านบาทจากบัญชีของตน เพื่อนำมามอบให้จำเลยที่รออยู่ที่โรงแรมสินทวี ส่วนครั้งที่สองวันที่ 11 พ.ย.61 จำนวน 3 ล้านบาท ครั้งที่สามวันที่ 30 พ.ย.61 จำนวน 7 ล้านบาท และครั้งที่สี่วันที่ 12 ธ.ค.61 จำนวน 9 ล้านบาท มีการนัดและส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซี สะพานควาย กรุงเทพมหานคร

โจทก์มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยและนาย พ.นัดพบเพื่อส่งมอบเงินกันที่โรงแรมเอ็มบาสซีในวันเวลาดังกล่าวได้แก่ ข้อมูลการเดินทางของจำเลยช่วงเวลาดังกล่าวโดยเครื่องบินบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ระหว่างภูเก็ต-ดอนเมือง และดอนเมือง-ภูเก็ต ใบเสร็จค่าที่พักโรงแรมเอ็มบาสซี สะพานควาย ระบุวันเวลาที่นาย พ.เข้าพักช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการนัดพบจำเลย ภาพถ่ายจำเลยบริเวณโรงแรมเอ็มบาสซี สะพานควาย และที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานควาย สถานที่ใกล้เคียงกับโรงแรม รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีธนาคารของนาย พ.ที่แสดงว่านาย พ. ทำรายการฝากถอนเงินเพื่อรวบรวมเงินนำไปมอบให้จำเลย รวมถึงคลิปวิดีโอภาพและเสียง และสัญญาจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.61 เป็นการรับเงินครั้งสุดท้าย

พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเรียกและรับเงินจากนาย พ. 20 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวันในคดีอาญาของศาลจังหวัดสมุทรปราการจริง แม้จำเลยไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาชาวไต้หวัน หรือจำเลยไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวเลยก็ตาม เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 175 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 แล้ว และการที่จำเลยรับเงินดังกล่าวจากนาย พ.ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา จึงเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามมาตรา 128 วรรคหนึ่งและ 129 แห่ง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวข้างต้นอีกกระทงหนึ่งด้วย

แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 171 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางไต่สวนว่านาย พ. รู้อยู่แล้วว่าจำเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และจำเลยเรียกรับเงินโดยอ้างว่าจะนำไปมอบให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการผู้มีตำแหน่งหน้าที่การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาอีกทอดหนึ่ง และนาย พ.กับพวกก็เข้าใจเช่นนั้น โดยไม่มีการกระทำหรือพฤติการณ์อื่นใดที่จะทำให้นาย พ.กับพวกเชื่อหรือเข้าใจว่าจำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานนี้

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 128 วรรคหนึ่ง มาตรา 129 ประกอบมาตรา 169 และ 175 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 175 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ริบเงิน 20 ล้านบาท หรือทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาจำนวน 10 นัด รวมระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเวลา 9 เดือน 3 วัน ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตฯมีคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ศาลอาญาคดีทุจริตฯพิจารณาแล้ว อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยตีราคาประกัน 3 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นได้รับอนุญาตจากศาล นาย ฐ.จึงเดินทางกลับทันที