“บริษัทที่เปิดมาเพื่อใช้สมาชิกเข้ามากดไลค์กดแชร์ เป็นการจ้างให้เราทำงานให้และมีสัญญาจ้างทำงานชัดเจน แต่การที่เราจะเข้ามาทำงานตรงนี้เราต้องวางเงินประกันที่แจ้งในสัญญาจ้าง มีการวางประกันตั้งแต่ 1,500-3,000 ไปจนถึง 20,000 บาท ซึ่งแต่ละแพ็กเกจจะมีการจ่ายเงินต่างๆตามเงินประกันที่เราลงไปว่า เราจะเลือกทำพอร์ตไหน ทางบริษัทจะจ่ายผลตอบแทนตามพอร์ตลงทุน เช่น 1,500 บาท มีงานให้กดไลค์กดแชร์ 5 งาน ได้ 20 บาท มากสุดพอร์ตละ 20,000 บาท มีงาน 20 งาน ค่าตอบแทนวันละ 200 บาทต่อ 1 พอร์ต ซึ่งลักษณะการจ้างต่างกันไปตามพอร์ตที่ลงทุนที่เป็นเงินประกัน หากซื้อหลายพอร์ตได้เพิ่มตามที่เราลงทุนไป”
“ทำงานไม่กี่นาทีไม่ถึงชั่วโมงก็ได้เงินแล้ว 2,000 บาท จึงมีคนมาซื้อแพ็กเกจจำนวนมากเพื่อทำงาน ซึ่งตอนแรกๆได้เงินมาจริง จนมีผู้ที่ทำงานประจำถึงกับลาออกจากงานมาลงทุนซื้อแพ็กเกจทำงานกับทางบริษัทนี้หลายคน และรายได้นำไปลดหย่อนภาษีได้ หักภาษี 3 เปอร์เซ็นต์ ณ ที่จ่ายได้จริง จึงมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก จนเดือน ก.ย.เริ่มมีการจ่ายไม่ตรงเวลา ขอเลื่อนไป 7 วัน 15 วัน จนสุดท้ายตัวบอสเจ้าของบริษัทออกมาประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เพจของบริษัท จึงเกิดความไม่ชัดเจนว่าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่ จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี”
หนึ่งในผู้เสียหายเล่าทั้งน้ำตา หลังจากนำเงินมาลงทุนหลายแสนบาทกับบริษัท Nice Review (NRV) ที่อ้างว่าทำธุรกิจดิจิทัลมาร์เกตติ้ง รับจ้างโปรโมต กดไลค์ กดแชร์สินค้าแบรนด์ต่างๆ โดยให้เหยื่อสมัครสมาชิกบริษัท และเสียเงินเปิดพอร์ตลงทุนประกันความเสี่ยง พอร์ตละ 20,000 บาท อ้างได้รับผลตอบแทนสูงสุดวันละ 200 บาท มีผู้เสียหาย 403 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 139,553,444 บาท
...
คดีนี้ตอนแรกมีผู้เสียหายบางส่วนแจ้งความไว้ที่ สน.โคกคราม จนเรื่องบานปลาย เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลมอบให้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกับ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ท.ชวลิต แสวงพืช ผบช.สทส. พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. และตำรวจชุดศปอส.ตร. สืบสวนจับกุม
ตำรวจชุด ศปอส.ตร. พบว่า เปิดบริษัทในลักษณะเชิญชวนสมาชิกมาสมัครทำงานแต่ก่อนที่จะทำงานต้องมีการวางเงินประกัน แต่ตำรวจพบว่าไม่มีงานทำจริง ตั้งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินประกัน เข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชน มี นายณรงค์ อินลี อายุ 34 ปี เป็นเจ้าของบริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด ที่เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ Nice Review (NRV)
มีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับนายณรงค์กว่า 403 ราย มูลค่าความเสียหายร่วม 139 ล้านบาท สืบสวนขยายผลหาความเชื่อมโยงของเส้นทางการเงิน รวบรวมหลักฐานออกหมายจับนายณรงค์ในข้อหา “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” จนสามารถตามจับกุมนายณรงค์ได้ระหว่างหลบหนีที่ด่านพรมแดนถาวร สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ 1 จ.หนองคาย พร้อมเงินสดกว่า 1 แสนบาท และเงินต่างชาติอีก 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังจับกุม นายหาญ ฮะยี่บังลัง ผู้ที่ให้การช่วยเหลือหลบหนี

สอบสวนนายณรงค์รับสารภาพว่า ได้ร่วมกับพวกเปิดบริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด เพื่อหลอกลวงเอาเงินค่าประกันการทำงานจากเหยื่อจริงและไม่ได้ประกอบธุรกิจตามที่กล่าวอ้าง
ตำรวจพบว่าขบวนการไนซ์รีวิวได้โอนเงินอิเล็กทรอนิกส์สกุล NRV ให้เป็นค่าตอบแทนในการกดไลค์กดแชร์ ระบุว่าก่อนหน้านี้มีการให้ค่าตอบแทนเป็นเงินสด เพิ่งมีการเปลี่ยนมาให้เป็นเงินสกุล NRV ในระยะหลัง ก่อนที่ค่าเงิน NRV จะค่อยๆลดลงจนเหลือมูลค่า 0 บาท ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถแลกเงินออกมาใช้ได้
ตำรวจจะเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆรวม 6 จุด ได้แก่ บริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด ถ.นวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. และบ้านพักอีก 5 หลัง ในย่านลาดพร้าวและสายไหม ก่อนอายัดบัญชีและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ได้แก่บัญชีชื่อนายณรงค์ อินลี 9 บัญชี 50 ล้านบาท บัญชี บริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด 3 บัญชี จำนวน 50 ล้านบาท บัญชีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา 2 บัญชี รวมจำนวนเงินที่อายัดไว้ 100 ล้านบาท
พล.ต.อ.สุวัฒน์ให้ขยายผลตรวจสอบกลุ่มผู้ร่วมขบวนการไล่ตั้งแต่กรรมการบริษัท เอ็นเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด โปรแกรมเมอร์ แม่ข่ายบริษัท นายหน้า โค้ชสอนการลงทุน ผู้รับโอนเงินและผู้แปลงเงินเป็นสกุลดิจิทัล ร่วมหลักร้อยรายเข้ามาดำเนินคดีตามกฎหมาย
หลังตรวจสอบเครือข่ายพบว่า ผู้ต้องหาได้แปลงเงินให้เป็นเงินสกุลดิจิทัลเพื่อสกัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดตามยึดอายัดได้ เนื่องจากเงินจะถูกนำไปจัดเก็บในอี-วอลเลต หรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ หากผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างแดนแล้วจะสามารถไปแลกเป็นเงินสกุลใดก็ได้ ทั้งยังสืบหาไม่ได้ว่าอยู่ที่ใด เนื่องจากไม่มีข้อมูลการเงินปรากฏในธนาคาร
และมาตรการสกัดกั้นทางเชิงรุก “ศูนย์เฟกนิวส์” จะใช้เทคโนโลยีเอไอ คัดกรองข้อมูลในโลกโซเชียล หากพบสิ่งต้องสงสัยจะสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทาง
...

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า “คดีนี้ได้เรียกประชุมตำรวจที่รับผิดชอบในการสอบสวนรวบรวมหลักฐานดำเนินคดี กับบริษัท Nice Review (NRV) โดยให้มีศูนย์ประสานงานอำนวยการอยู่ที่ศูนย์สืบสวนแต่ละภาค มีรอง ผบก.ควบคุมดูแลเนื่องจากความเสียหายกระจายไปทั่วประเทศและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ในพื้นที่ได้เลย ไม่ต้องเดินทางมาแจ้งความที่ สน.โคกคราม ซึ่งเป็น สน.แรกที่ได้รับแจ้งความ เบื้องต้นมีผู้เสียหาย 700 ราย มูลค่าความเสียหาย 200 ล้านบาท และคดีนี้จับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 1 ราย คือนายณรงค์ อินลี อายุ 34 ปี เจ้าของบริษัท Nice Review (NRV) ถือว่าเป็นตัวการใหญ่ อยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด คดีนี้ดำเนินการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. (Police Cyber Taskforce : PCT) ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ”
...
อีกหนึ่งผลงานสำคัญของตำรวจ ศปอส.ตร.ที่เคยมีผลงานโดดเด่นการปราบปรามหลอกหลวงฉ้อโกงในอดีต พล.ต.อ.จักรทิพย์ วางตัว พล.ต.อ.สุวัฒน์ กับ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นำรูปแบบของศปอส.ตร. ขึ้นมาใช้รับแจ้ง ปราบปรามขบวนการ “ฉ้อโกง” และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำงานร่วมกับ “ศูนย์เฟกนิวส์” ของรัฐบาล
ยกระดับการดูแลคดีความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยบนโลกโซเชียล.
ทีมข่าวอาชญากรรม