โดนกันไปทุกหย่อมหญ้าจริงๆ สำหรับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ บ้างก็ได้สินค้าไม่ตรงตามสั่ง บ้างก็ได้สินค้าไร้คุณภาพ ถึงขณะที่บางคนสั่งซื้อโทรศัพท์มือถือไอโฟน แต่ได้เพียงน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ส่งพัสดุกลับมาก็ยังมี!!

และอีกหนึ่งรูปแบบคือการชิงโชค หลอกให้กรอกข้อมูลรายละเอียดลงในแบบฟอร์มออนไลน์ ทั้งที่อยู่เบอร์โทรสารพัด ล่อด้วย "แหวนทอง แหวนเพชร" ราคาแพง ระบุข้อความเชิญชวนทำนองว่า "แค่กรอกข้อมูล จะค่าภาษีเพียง 100-200 บาท ก็จะได้รับทองคำแท้ส่งถึงบ้าน" ....แต่เมื่อวันที่ของเดินทางไปส่งจริงๆ โดยผู้ส่งอาจเป็นพนักงานบริษัทรับ-ส่งของที่ใดก็แล้วแต่ วัตถุประสงค์คือการเก็บเงินปลายทาง จากยอดที่ระบุราคาแหวนทองจาก 100-200 บาท กลายเป็น 1,000 กว่าบาท ซึ่งสินค้าที่ได้กลายเป็นแหวนปลอมไปโดยปริยาย 

แต่วิธีฉ้อฉลที่น่าเจ็บใจไปกว่าก็คือ "เราไม่ได้สั่งของอะไรเลย แต่ดันมีพัสดุมาส่งถึงที่ ระบุชื่อนามสกุลเบอร์โทรชัดเจน" แถมคนที่บ้านซึ่งไม่รู้ว่าเราสั่งจริงหรือไม่สั่งจริงได้เซ็นรับจ่ายเงินปลายทางไปแล้วนี่สิ! สงสัยใช่ไหมว่า ข้อมูลส่วนตัวเหล่านั้นของเรามันหลุดรอดไปถึงคนอื่นได้อย่างไร และคงอันตรายบานปลายแน่ๆ หากมิฉาชีพนำข้อมูลดังกล่าวไปก่อเหตุอาชญากรรมที่ร้ายแรงกว่านี้ 

- บริษัทรับส่งของแค่เป็นตัวกลางประสานให้ - 

ต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้มีบริษัทรับส่งของมากมายในประเทศไทยที่รับส่งของจากผู้ค้าและผู้ซื้อ การใช้ช่องทางบริษัทขนส่งเอกชนจึงน่าจะสะดวกรวดเร็วกว่า ง่ายกว่า มิจฉาชีพหลายรายจึงหันมาใช้ช่องทางนี้ในการจัดส่งของที่อาจจะผิดกฎหมาย หรือสิ่งของไม่ได้คุณภาพ หรือการฉ้อฉลในการซื้อขายต่างๆ นานา โดยที่บริษัทขนส่งอาจจะไม่ทราบเรื่องด้วย เพราะมีหน้าที่แค่ส่งของอย่างเดียว เหตุนี้เองทำให้ประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อต้องพึงระมัดระวัง ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนรับของหรือทำการจ่ายเงินปลายทาง หรือโอนเงินโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงใดใด

...

- เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว บริษัทส่งของจะต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างไร - 

ตรงจุดนี้หากบริษัทขนส่งของเป็นบริษัทใหญ่ที่ได้มาตรฐานทำงานเป็นระบบ มีเบอร์ติดต่อชัดเจนและประชาชนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถติดต่อไปยังบริษัทนั้นๆ ได้โดยตรงตามเบอร์ที่ระบุไว้ ซึ่งทางบริษัทน่าจะมีฐานข้อมูลผู้ส่ง เพื่อดำเนินการติดตามเรื่อง และรับผิดชอบความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป 

- ทำอย่างไร เมื่อที่อยู่ผู้ส่ง เบอร์โทรศัพท์ และรายละเอียดแสดงตนปลอมทั้งหมด -

แน่นอนว่า มิจฉาชีพเกือบทุกรายมักจะรอบคอบ และไม่แสดงตัวตนระบุชื่อที่อยู่ชัดเจนลงไปบนหน้าพัสดุที่ส่ง ยิ่งมิจฉาชีพที่ลักไก่ส่งของมาเองมั่วๆ หวังฟลุกมีคนรับเก็บเงินปลายทางก็ได้กำไรมหาศาล เพราะสินค้าในกล่องต้นทุนต่ำมาก เมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายไปเสียแล้ว ไม่รู้จะติดต่อกลับไปทางใด เพราะ ชื่อ ที่อยู่และเบอร์โทรที่แจ้งไว้ในพัสดุปลอมทั้งหมด ตั้งสติดีๆ ใจเย็นๆ อีกช่องทางที่เหยื่อควรแจ้งประสานไปคือบริษัทส่งของตัวกลาง เนื่องจากว่าบริษัทเหล่านี้จะมีบัญชีธนาคารและชื่อรายละเอียดการโอนเงินเข้าของทุกคนที่มาใช้บริการเก็บเงินปลายทาง หลักฐานเอกสารเหล่านี้จึงสามารถโยงใยไปสู่ตัวมิจฉาชีพได้ไม่ยาก 

- มิจฉาชีพเหล่านี้ ไปค้นเอาข้อมูลชื่อที่อยู่เบอร์โทร ของเรามาจากไหน - 

บ่อยครั้งที่ตำรวจ หรือหน่วยงานราชการออกเตือนผู้ขายสินค้าในโลกโซเชียล ห้ามเด็ดขาดในการโพสต์ชื่อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ แจ้งส่งของลูกค้าทางเฟชบุ๊ก เพราะนี่ถือเป็นอีก 1 ช่องทางที่มิจฉาชีพฉวยจังหวะนำข้อมูลเหล่านั้นมาสานต่อนำสู่การหลอกลวงส่งสินค้าถึงตัวเราโดยที่ไม่ได้มีการสั่งออเดอร์แต่อย่างใด ขณะเดียวกันการกรอกข้อมูลรายละเอียดตามอินเทอร์เน็ต หรือ ข้อมูลคูปองชิงโชคต่างๆ ก็ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าข้อมูลของเราจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด 

- ระมัดระวังอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อ - 

ทุกครั้งที่มีเบอร์โทรศัพท์แจ้งเข้ามาส่งของ ให้ทบทวนดีๆ ว่าเราได้สั่งของชิ้นนั้นจริงหรือไม่ หากไม่ใช่ให้ตอบปฏิเสธ เพื่อที่บริษัทส่งของตัวกลางจะนำสินค้าเหล่านี้ตีกลับคืนยังปลายทาง หากสินค้าหรือพัสดุดังกล่าว มาส่งถึงที่ทำงาน หรือที่บ้านแล้วแต่เจ้าตัวไม่อยู่ ต้องโทรเช็กกับเจ้าของชื่อหน้ากล่องให้มั่นใจก่อนว่า "เป็นสินค้าที่ได้สั่งมาใช่หรือไม่ ห้ามชำระเงินให้พนักงานก่อนเด็ดขาด" นอกจากนี้ ห้ามให้ข้อมูลชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ทางโลกออนไลน์โดยไม่มีเหตุจำเป็น เช่น มีข้อความส่งมาว่า "หากกรอกข้อมูลส่วนตัว จะได้รับสินค้าแบบนี้ ราคานี้"....จำไว้เลยอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด เพราะทั้งหมดนั้นคือกลโกง

...

มากไปกว่านั้นมิจฉาชีพ ยังมีเทคนิคล้วงข้อมูลส่วนตัวเราอีกหลายวิถีทางที่ตัวเราเอง หรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตรวจตราได้ทั่วถึง ทางที่ดีที่สุดคือ "เราต้องระมัดระวังทุกครั้งก่อนจะตกลงให้ข้อมูลเหล่านี้กับใคร 

- เสียโง่ถูกหลอก ไม่ยอมแจ้งความดำเนินคดี เพราะเสียเวลา -

เหยื่อหรือผู้เสียหายหลายรายมักคิดกันแบบนี้ ทำให้มิจฉาชีพได้ใจก่อเหตุขยายวงกว้าง และจัดส่งสินค้ากระจายเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ถูกดำเนินคดี เนื่องจากไม่มีเจ้าทุกข์แจ้งความแล้ว ยังสามารถทำพฤติกรรมซ้ำแบบเดิม และหาช่องทางใหม่ๆ กลโกงที่เพิ่มมูลค่าความเสียหายขยายวงกว้างขึ้น "หากเหยื่อทุกคนคิดว่า เงินจำนวนไม่กี่ร้อย ไม่เอาผิด ไม่ตามเรื่อง ไม่แจ้งความ คุณรู้ไหมว่าในแต่ละปีมิจฉาชีพจะหาเงินได้มูลค่ามหาศาล และสร้างขบวนการใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

- มิจฉาชีพโกยรายได้ 31 วัน เกือบ 5 แสน  365 วัน รับเละ ร่วม 6 ล้าน - 

คุณอาจคิดว่าความเสียหายมันตกอยู่ที่คุณเพียงคนเดียว แต่ทว่าเหยื่อรายอื่นๆ ที่ไม่ใช่คุณ กลับมีเพิ่มทวีคูณจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะการสุ่มส่งสินค้าเก็บเงินปลายทาง สร้างมูลค่าในแต่ละเดือน  ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากมิจฉาชีพ สุ่มส่งสินค้าไร้คุณภาพ 100 กล่องต่อ 1 วัน ราคาจริงสินค้าในกล่อง 200 บาท แต่เรียกเก็บเงินปลายทางกับเหยื่อ 1,000 บาท เท่ากับได้กำไรกล่องละ 800 บาท และใน 1 วัน หากมีเหยื่อหลงเซ็นรับ จ่ายเงินปลายทาง 20 ราย เท่ากับว่าในวันนั้น มิจฉาชีพได้กำไรจากการยัดเยียดส่งสินค้าสูงถึง 16,000 บาท ต่อวัน และ หากจัดส่ง 31 วันใน 1 เดือน จะมีรายรับสูงถึง 496,000 บาท  คิดเป็นรายปี ส่งของ 365 วัน  มิฉาชีพจะโกยรายได้ถึง 5,840,000 บาทต่อปี (ยังไม่หักค่าส่งของ) 

...

***ทางที่ดีที่สุด อย่าเอาตัวเอาไปอยู่ในวงล้อมตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ระมัดระวังการให้ข้อมูลรายละเอียดส่วนตัว และไม่โพสต์รายละเอียดความลับลงในที่สาธารณะอย่างเด็ดขาด เมื่อไหร่ก็ตามที่พลาดไปแล้ว ให้หาวิธีติดต่อกลับไปยังต้นทางที่ส่งมาทันที นำข้อมูลทั้งหมดประสานบริษัทตัวกลางรับส่งของ ภายหลังได้หลักฐานเพิ่มเติม ให้เข้าแจ้งความกับตำรวจพื้นที่เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้ให้เด็ดขาด