กระทรวงการคลังที่มี อุตตม สาวนายน เป็นเจ้ากระทรวงมีนโยบายที่จะออกมาตรการ ชิมช้อปใช้เฟส 2 ตามมา แต่จะไม่ใช้เงื่อนไขเดิม คือ ใครที่ลงทะเบียนทันไม่จำกัดเพศ วัย อายุ หรือสาขาอาชีพ ใครก็ได้ ในครอบครัวเดียวกันจะลงทะเบียนได้ กี่คนไม่จำกัด แต่จะไปจำกัดที่จำนวนรวมทั้งหมดคือไม่เกิน 10 ล้านคน และจะแบ่งเป็นสองระยะคือ เงินจำนวน 1,000 บาทที่จะเข้ากระเป๋าฟรีๆ โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องไปใช้จ่ายนอกภูมิลำเนา เช่นคนใน กทม.ก็ต้องไปใช้แถวชานเมือง ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะต้องใช้จ่ายภายใน 14 วัน ถ้าเกินจากนั้น จะถูกตัดสิทธิ์ เอาเงินคืน ส่วนที่ชาวบ้านควักเงินจ่ายเองนอกจากเงินฟรีที่ได้รับแล้ว กระทรวงการคลังก็จะมีโบนัสคืนเงินเข้ากระเป๋าให้ร้อยละ 15 ของยอดค่าใช้จ่ายซึ่งก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติม
นโยบาย ชิมช้อปใช้เฟสแรก ที่ผ่านไปแล้ว มีคนลงทะเบียนครบจำนวน 10 ล้านคน มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากมาย เพราะไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นสินค้าประเภทไหน ผู้ประกอบการระดับไหน ใครก็ได้ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการได้หมด ร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ ห้างขายปลีกขายส่ง โดยเฉพาะอย่างหลังมีคนไปใช้บริการเยอะมาก จนต้องมีการแจกบัตรคิว เปิดจำหน่ายตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม สามารถแจกบัตรคิวให้ได้ ประมาณ 1 พันคิวต่อวันต่อห้าง สินค้าที่คนแห่ไปซื้อส่วนใหญ่จะเป็นของอุปโภคบริโภค ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องดื่มชนิดต่างๆ บะหมี่สำเร็จรูป ขายดิบขายดีจนสินค้าไม่พอขาย
เพราะฉะนั้นตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เที่ยวเมืองรอง และไปใช้จ่ายในเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวกระจายรายได้ ก็เป็นการผิดวัตถุประสงค์ ร้านค้าทั่วไปได้ประโยชน์น้อย สินค้าท้องถิ่นแทบจะไม่ได้อะไรเลย เม็ดเงินส่วนใหญ่จึงไปลงกับบริษัทขนาดใหญ่ ห้างขนาดใหญ่แทน คิดตัวเลขกลมๆแต่ละวันในช่วงเวลา 14 วันที่กำหนดให้ใช้เงินฟรี 1,000 บาท กับจำนวนชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อ 1 ห้างต่อวัน
ใครได้ใครเสีย
ผช.รมว.คลัง ชาญกฤช เดชวิทักษ์ ให้ข้อมูลว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนพากันไปใช้สิทธิ์ ชิมช้อปใช้ ผ่านแอป เป๋าตัง จำนวนมาก ทำให้ร้านค้าหรือห้างสะดวกซื้อมีคนต่อแถวเพื่อรอคิวนานกว่าปกติ บรรยากาศคึกคัก โดยโครงการนี้จะไปสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ย. สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าที่จำเป็นสำหรับครัวเรือน ซื้ออาหาร ใช้เป็นค่าที่พักในการท่องเที่ยวได้ และสามารถเติมเงินในกระเป๋าที่ 2 ซึ่งเงินที่เติมไปนั้นจะได้รับคืนสูงสุด 15% หรือไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน โดยจะได้รับเงินคืนไม่เกิน 1 เดือนหลังสิ้นสุดโครงการ
ปัญหาที่พอจะสรุปได้ก็คือ ความไม่เรียบร้อยของเครื่องมือในการลงทะเบียนใช้สิทธิ์ ความได้เปรียบเสียเปรียบของการลงทะเบียน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ลงทะเบียนได้สำเร็จก็จะเป็นคนมีเงินเดือน คนในเมือง ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นประจำ ส่วนคนต่างจังหวัดต้องไปรอต่อคิวให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยลงทะเบียนให้ได้บ้างไม่ได้บ้าง
สุดท้ายคือความเป็นห่วงในเรื่องของ วินัยการเงินการคลัง ที่ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคประชาชนก็เช่นกัน การที่รัฐแจกเงินประชาชนไม่ใช่เรื่องผิดจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม แต่ถ้าไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ฟุ่มเฟือย
ชาวบ้านก็ต้องช่วยกันแบกหนี้สาธารณะกันบานตะไท.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th