มหากาพย์เงินเฟ้อ หมูแพง..ค่าแรงอั้น

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มหากาพย์เงินเฟ้อ หมูแพง..ค่าแรงอั้น

Date Time: 21 ม.ค. 2565 07:01 น.

Summary

  • การระบาดของเชื้อที่เกิดในหมู (ASF) หากเทียบกับโควิดในแง่ความทนทานนั้นถือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย มันอยู่ได้นานมากและก็ไปถึงผลิตภัณฑ์ด้วย

Latest

­­­ปิดจบบัญชีม้าบุคคล 1.92 ล้านบัญชี 6 หน่วยงานรัฐลุย “ม้านิติบุคคล” หลังแนวโน้มพุ่ง

“เงินเฟ้อ หมูราคาพุ่ง ของแพง” เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นจริงแล้ว “การระบาดของเชื้อที่เกิดในหมู (ASF)...หากเทียบกับโควิดในแง่ความทนทานนั้นถือว่าเป็นคนละเรื่องกันเลย มันอยู่ได้นานมากและก็ไปถึงผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น พบในกุนเชียงในต่างประเทศที่ส่งมาจากเมืองไทย... คนกินอาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าระบาดไปถึงฟาร์มก็ระบาดต่อไปได้อีก”

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดประเด็นย้ำในรายการตอบโจทย์ Thai PBS เมื่อไม่นานมานี้ด้วยว่า การตัดวงจรเชื้อนี้ตามธรรมชาติแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่การที่เราไม่ยอมรับทำให้การชดเชยก็ทำแบบครึ่งๆกลางๆ

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง

ยิ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายระบบเกษตรพันธสัญญาก็ยิ่งมีโอกาสได้รับน้อยลงไปอีก พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้การระบาดไม่จบ ด้วยเพราะจัดการต้นตอไม่ได้

หลายประเทศอย่างจีนพยายามทิ้งฟาร์มเก่า ย้ายไปทำฟาร์มใหม่กันเลย ไม่ได้พักเล้าสองเดือนเท่านั้น เขามองว่าการกลับมาที่จะผลิตเลี้ยงหมูมากๆ ก็ไม่ง่าย ถ้ายังทำอยู่ที่เดิมอาจจะเสี่ยงมีเชื้อหลงเหลือ...สถานการณ์เช่นนี้จะคล้ายๆกับการระบาดไข้หวัดนก...ฟาร์มเล็กๆก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปในที่สุด

ฟาร์มปิดที่ทันสมัยจะสามารถมีศักยภาพในการผลิตต่อไปได้และที่สำคัญจะไปต่อได้ในสถานการณ์นี้จะต้องมีทุนหนา...หนีไม่พ้นบริษัทใหญ่ๆที่จะเข้ามาแทนที่

คำว่า “ระบบปิด” ต้นทุนสูงมาก มีการกักบริเวณสัตว์เพื่อจำกัดไม่ให้เชื้อเข้าไปได้ นับรวมไปถึงถ้าหากมีการระบาดของเชื้อเกิดขึ้นก็จะไม่ให้เชื้อหลุดออกมาจากระบบได้เช่นเดียวกัน

โรคอหิวาต์หมู (ASF) โรคนี้เรากลัวกันมานานแล้ว น่าจะสักสี่...ห้าปีโดยเฉพาะในวงการสัตวแพทย์ ถ้าเข้าประเทศไทยแล้วมันจะแย่ แต่ในที่สุดพอเข้ามาจริงแล้วเรากลับจัดการแย่กว่าหวัดนก”

ทุกปัญหา ทุกบทเรียน...จะต้องแก้อย่างรวดเร็ว เท่าทันสถานการณ์ ที่สำคัญจะต้องจัดการอย่างไม่น้อยเกินไป วกกลับไปประเด็นของแพงค่าแรงต่ำเตี้ย ดร.วิโรจน์ มองว่า ที่ผ่านมาประเทศเราใช้นโยบายควบคุมราคาสารพัด มีสินค้าควบคุมสารพัด และในที่สุดก็ยอมรับกันว่า... “ไม่ได้ผล”

“การควบคุมราคาในทางกฎหมายถูกยกเลิกไปเกือบทั้งหมดแล้ว ตัวท้ายๆก็คือน้ำตาลทรายกับแก๊สหุงต้ม อาจจะเหลือในทางปฏิบัติผู้บริหารตั้งแต่เจ้ากระทรวงลงมา จนถึงอธิบดีก็ใช้วิธีเดิมๆตลอด ไม่มีกฎหมายก็ใช้การเจรจา ไปขอ...บางทีก็อาศัยความเกรงใจ”

อีกทางหนึ่งก็มีโปรโมชันขายของราคาถูก แต่คำถามมีว่า...สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นอะไรที่เล็กน้อยแก้ปัญหาได้ในมุมจำกัด แก้ได้เพียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้น ไม่ได้มีผลในตลาดภาพใหญ่...ไม่ได้คลี่คลายปัญหาให้มวลมหาประชาชน คนจำนวนมากมองได้ในบริบท... “รัฐบาลทำในสิ่งเล็กๆ ให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว...แก้แล้ว”

อย่างเรื่อง “หมู” ถ้าเราไม่สามารถทำให้ปริมาณหมูในประเทศมากขึ้น มีการนำเข้ามาเป็นเรื่องเป็นราว ยังไงๆราคาก็ต้องขึ้น ต่อให้คนย้ายไปกินไก่...ด้วยผลผลิตที่ลดลงไปมากราคาก็ต้องขึ้น

ที่สำคัญต้องยอมรับความจริง แล้วก็เลิกพวกนโยบายที่พยายามไปควบคุมอะไรที่เหมือนทำเป็นพิธีเท่านั้น...เพราะไม่เคยได้ผลจริง

“เงินเฟ้อ ของแพง เป็นสัญญาณที่ดี”...จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน อย่างไรกัน?

งัดวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐานมาคุยกัน หลายๆคนก็จะคงเคยได้ยินกันเรื่อง “ดีมานด์”...“ซัพพลาย” มาบ้าง เรื่องหมูชัดเจนมากๆ เพราะว่าซัพพลายหายไปเกือบครึ่ง แล้วดีมานด์ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ปัจจัยหลักคงไม่ใช่ ส่วน “เงินเฟ้อ”...มีจาก 2 มุม ถ้ารัฐบาลพิมพ์เงินเยอะๆ หรือใช้จ่ายเยอะๆ เงินก็อาจจะเฟ้อมากขึ้น สมมติว่า...สินค้าเท่าเดิม เงินในกระเป๋าของคนที่มาจากรัฐบาลบ้างอะไรบ้างเพิ่มขึ้นก็จะทำให้สินค้าแพงขึ้น แต่ถ้าเราดูปีที่ผ่านมามีโครงการคนละครึ่ง...มีอะไรจำนวนมาก ราคาสินค้าโดยรวมๆไม่ได้แพงขึ้น

เงินเฟ้อในภาพรวมเป็นเช่นนี้...แต่ราคาอาหารต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งแพงขึ้นจริง ไปดูตามห้าง...ร้านสะดวกซื้อ สินค้าหายไปจากชั้นวางมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าความต้องการอาหารในต่างประเทศ การส่งออกดีขึ้น แต่ถ้าบอกว่าเพราะคนไทยมีกำลังซื้อ...มาจับจ่ายมากขึ้นแล้วของมันแพงขึ้น ผมยังไม่ค่อยเห็น

“ที่ผ่านมา...คนที่เสมอตัวได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ก็มีบางธุรกิจที่หารายได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด–19 ช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ แต่กับคนส่วนใหญ่ยังไม่เสมอตัวเสียด้วยซ้ำ ยิ่งกลุ่มคนกินเงินเดือน ไม่ถูกลดเงินเดือนก็ยิ่งโชคดีหน่อย”

เรื่องเงินเฟ้อ “อัตราเงินเฟ้อ” ก็อาจจะขึ้นไปจากเดิมบ้าง แต่ไม่ได้แย่อะไร แต่ของที่แพงแต่ละเรื่อง อย่างเรื่องหมูชัดเจน สาเหตุจริงๆก็เห็นๆ กันอยู่ แต่ว่ากลับไปอธิบายในเรื่องอื่นทำให้แก้ไม่ถูกที่ไปด้วย

ภาวะเศรษฐกิจสาละวันเตี้ยลงในทางความรู้สึกคนทั่วไป สะท้อนความหดหู่ในการดำเนินชีวิตผสมปนเปไปกันจนเกิดภาวะความเครียดอย่างเลี่ยงไม่ได้ สภาวะเช่นนี้เราๆท่านๆจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร?

เศรษฐกิจ...ก็แย่ เงินเฟ้อ...ก็เพิ่มขึ้น หันกลับมามองเงินในกระเป๋า...ก็น้อยเหลือเกิน

ดร.วิโรจน์ บอกว่า ส่วนหนึ่งเรายังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่น่าตกใจ สมัยก่อนบางทีเราพูดกันถึงเปอร์เซ็นต์กันเลย บางทีเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ เราอาจจะคุ้นเคยกับภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมานานพอสมควร พอพูดถึงระดับ 3 เปอร์เซ็นต์ คนก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นปัญหามาก

ผมคิดว่า...ที่สำคัญ ประเด็นแรกอยู่ที่ “โควิด-19” เราไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ จบยังไง พอมีข่าวต่างๆ คนก็พยายามมองในแง่ดี...โอมิครอนจะเป็นจุดจบ แต่เอาเข้าจริงก็คงไม่จบลงง่ายๆ

ฉะนั้นยังเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลมีความห่วงใยมาก เพราะที่ผ่านมาที่รัฐบาลใช้มากก็คือใช้เงินในการเยียวยา พอกู้มาเยียวยามากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเองก็รู้สึกอึดอัด

ในปีที่ผ่านมาเข้าใจว่ามีบางอุตสาหกรรม หรือบางสาขาพวกส่งออกอาหารจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพรวมดีขึ้น หมายถึงว่าการส่งออกอาหารสำเร็จอาจจะดีขึ้น แต่ข้าวราคาก็ตกต่ำเสียด้วยซ้ำ ก็จะเป็นสถานการณ์ที่ความเป็นอยู่ของคนก็คงจะแย่ลง อย่างปีนี้ตอนต้น ที่ว่า...อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์

ถ้าเป็นภาวะปกติสมัยก่อน 3-4 เปอร์เซ็นต์ถือว่าโอเค แต่จริงๆเราเป็นการเติบโตที่หล่นไปในหลุมก่อนแล้วปีนขึ้นมาใหม่ หมายถึงว่าเรายังโตแบบปีนกลับไปไม่ถึงที่เดิม พอโอมิครอนมาการท่องเที่ยวเรายังไม่กลับมาใกล้กับระดับเดิม...อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเราคงไม่ได้ระดับนั้น

...ก็เป็นอีกปีที่คนจำนวนมากยังคงอยู่ในภาวะลำบาก

“บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาล ก็ควรที่จะดูแลว่าอย่าให้คนที่ลำบากมากๆลำบากจนเกินไป...ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาเรามีศัพท์ในวงการโควิดเรียกว่าการตายส่วนเกิน ที่ไม่ได้มาจากโควิดโดยตรง แต่เพิ่มขึ้นเยอะในช่วงที่มีโควิดเพิ่ม มาจากการฆ่าตัวตาย หรือ...ผลกระทบทางอ้อมจากการเข้าโรงพยาบาลไม่ได้”

เป็นผู้ป่วยโรคอื่น...แต่เข้ารับการรักษาไม่ได้ ประเด็นนี้เป็นส่วนสำคัญที่ “รัฐบาล” อย่าให้ความหวังที่ว่ามันต้องดีขึ้นแน่ แต่ต้องเฝ้าระมัดระวัง หามาตรการมาดูแลบางกลุ่มที่เปราะบาง จะทำอย่างไร

ปี 2565 บันทึกไว้ “มหากาพย์เงินเฟ้อ...ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน สวนทางกับค่าแรง รายได้ที่เสมือนถูกทำหมัน” เรา “คนไทย” ต้องรอด สู้ๆๆให้สุดกำลัง เพื่อผ่านพ้นมรสุมนี้ไปให้ได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ