การเลี้ยงดูลูกในยุคดิจิทัลท่ามกลางข้อมูลข่าวสารรอบตัวและการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดน เป็นโจทย์ท้าทายของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ที่ต้องพลิกตำรารับมือกับลูกๆ ยุค 4.0 กันแทบไม่ทัน ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ซึ่งเสริมสร้างกิจกรรมในครอบครัว ได้ชวน นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้มาช่วยไขเคล็ดลับพัฒนาการที่สมวัยของลูกน้อยเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพว่า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัวเด็กๆ และเข้าถึงทุกคนมากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงดูแบบไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีโดยที่ลูกไม่มีพฤติกรรมติดจอ คุณพ่อคุณแม่จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างการเรียนรู้ให้ลูกอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามวัย

คุณหมอพรเทพแนะนำว่า ใน 2 ขวบปีแรกเน้นสื่อสารแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ (Interactive Communication) พ่อแม่ควรเลือกใช้สื่อที่สามารถเล่นด้วยกันกับลูก อาทิ สมุดภาพ ของเล่นที่มีเสียง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและพัฒนาการพื้นฐานตามช่วงวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ประกอบด้วย พัฒนาการด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิด พ่อแม่สามารถชวนลูกพูดคุย ร้องเพลง เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการการฟังและการเปล่งเสียงอ้อแอ้จนถึงพัฒนาการพูดประโยคที่ยาวและมีความซับซ้อนขึ้น ตามมาด้วยพัฒนาการด้านร่างกาย ตั้งแต่ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กสัมผัสร่างกายของพ่อแม่ จับขวดนม ใช้ช้อนตักข้าว ต่อบล็อก ขีดเขียนหนังสือ จนถึงการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการชันคอ พลิกคว่ำ คลาน ยืนและเดิน สำหรับการนำเทคโนโลยีมาเลี้ยงดูเด็กในวัยที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำหรือถ้าจะใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดความสนใจของลูกน้อยควรจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ และมีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อาทิ การเปิดการ์ตูนในยูทูบให้เด็กดูตลอดเวลา ซึ่งเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงมีผลต่อพัฒนาการทางด้านภาษา ทำให้เด็กพูดช้า ขาดการโต้ตอบ ส่วน 2 ขวบขึ้นไปจนถึงเด็กโต ไม่ควรปล่อยให้อยู่หน้าจอตามลำพังการนำสื่อดิจิทัลมาเสริมการเลี้ยงลูกไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่หน้าจอเป็นชั่วโมง อาทิ เด็กอายุ 2-5 ขวบควรใช้เวลาอยู่หน้าจอวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ครอบครัวมีส่วนสำคัญที่สุดในการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดี และเสริมสร้างพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ด้วยการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การออกกำลังกาย ทานอาหารพร้อมหน้ากัน ทำกิจกรรมนอกบ้าน ขณะเดียวกันควรสังเกตว่าลูกมีความชอบหรือเก่งด้านไหน พร้อมสนับสนุนให้เก่งยิ่งขึ้นหรือชื่นชมเพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและกล้าแสดงออกในขอบเขตที่เหมาะสม.

...