เป็นทั้งข้อสงสัยและข้อถกเถียงกันมาก ว่า “ควรฉีด” หรือ “ไม่ควรฉีด” วัคซีน โควิด-19 และถ้าฉีดควรฉีดของใครดี ระหว่างจีน อังกฤษ อเมริกา หรือแม้แต่ในชาติเดียวกัน ก็ต้องมาดูอีกว่า จะฉีดของยี่ห้อไหนถึงจะเวิร์กสุด เรียกว่า ต้องหาข้อมูลกันพอสมควรก่อนการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ วงการแพทย์ทั่วโลกต่างยืนยันตรงกันแล้วว่า การฉีดวัคซีน COVID-19 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย และเลี่ยงพื้นที่แออัด เพราะเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 สามารถแพร่จากคนสู่คน โดยผ่านละอองฝอย (Droplets) จากการไอหรือจาม การสัมผัสสารคัดหลั่ง (Contact) เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ฯลฯ

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนฉีดควรเรียนรู้หลักการของการได้รับวัคซีนก่อนว่า โดยปกติเมื่อเชื้อโรคทุกชนิดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะมีวิธีจัดการเชื้อหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage จะกลืนเชื้อเข้าไปและทิ้งเศษซากเชื้อบางส่วนไว้เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ร่างกายจะรับรู้ว่าแอนติเจนคือสิ่งแปลกปลอม และเมื่อเจอกับสิ่งแปลกปลอม ร่างกายก็จะสร้างแอนติบอดี (Antibody) มาจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น รวมถึงมีเม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่จำว่าเชื้อโรคนี้คือสิ่งแปลกปลอมที่หากได้รับเชื้ออีกในอนาคตร่างกายจะสามารถจดจำและจัดการได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนก็คือ การเลียนแบบกลไกการจัดการเชื้อโรคของร่างกายนั่นเอง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส ป้องกันการติดเชื้อ หากได้รับเชื้อในอนาคต ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่งหลังฉีดวัคซีน ที่เรียกว่า “กระตุ้นภูมิ” คือ ร่างกายจะค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

...

ถามว่า ป้องกันได้ 100% มั้ย?

วัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันทุกคนที่ฉีดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แต่พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ และยังไม่มีข้อมูลว่าเมื่อฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้นานเท่าไร รวมถึงไม่มีข้อมูลว่าผลการฉีดวัคซีนให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันนั้น ทำให้ภูมิต่อไวรัสโควิด-19 มีผลลดลงกว่าในคนปกติหรือไม่

สำหรับวัคซีนแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นการร่วมกันพัฒนาจากบริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่มีหลายประเทศระงับการฉีดในบางช่วงอายุ เนื่องจากพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนตัวดังกล่าว

ซึ่งล่าสุด องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ อีเอ็มเอ ระบุว่า ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกาและความเสี่ยงโดยรวมของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ได้ระบุให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเฝ้าระวังภาวะดังกล่าว โดยอีเอ็มเอระบุว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นควรถูกบรรจุไว้ในรายการผลข้างเคียงที่พบได้ยากของวัคซีนชนิดนี้

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของอังกฤษ ระบุว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวนั้นควรฉีดวัคซีนตัวอื่นทดแทน แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าอาการลิ่มเลือดอุดตันสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนก็ตาม

ทั้งนี้ อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการอุดตัน หากเกิดการอุดตันบริเวณปอด จะมีอาการ เช่น หายใจสั้นลงและเจ็บหน้าอก หากเกิดภาวะอุดตันของลิ่มเลือดบริเวณสมอง จะมีอาการปวดหัว เห็นภาพเบลอและมีอาการชัก และหากเกิดการอุดตันบริเวณขาก็จะส่งผลให้มีอาการขาบวม

ซึ่งแม้ว่าภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดความกังวลในการเข้ารับวัคซีน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันว่าวัคซีนแอสตราเซเนกานั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับคนหมู่มาก

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อีกตัวที่เริ่มมีการฉีดในช่วงแรกๆ คือ วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทไบออนเทค วัคซีนตัวนี้ได้ถูกระบุว่ามีอัตราการป้องกันโรคได้มากถึง 97% ซึ่งทางบริษัทได้เตรียมเดินหน้ายื่นขอการอนุมัติการใช้ฉุกเฉินเพื่อฉีดให้แก่เด็กที่มีอายุระหว่าง 12-15 ปี โดยเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และต้องถูกจัดเก็บในอุณหภูมิที่เย็นจัด -70 องศา ซึ่งอาจจะทำให้การขนส่งวัคซีนนั้นไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่สูง

...

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเอฟดีเอ ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนฉุกเฉินจาก 3 บริษัท ได้แก่ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งวัคซีนทั้งสามตัวนั้นมีอัตราการป้องกันโรคในระดับสูง โมเดอร์นาและไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 95% ขณะที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน มีประสิทธิภาพ 72% และล่าสุด เอฟดีเอ สหรัฐฯได้สั่งให้มีการระงับวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีปัญหาเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน จนกว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว

ความแตกต่างของตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีนจากการทดลองได้ทำให้ประชาชนบางรายเลือกที่จะฉีดวัคซีนบางตัวเท่านั้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่าประชาชนควรเข้ารับวัคซีนเมื่อถึงคิวของตนแม้ว่าวัคซีนที่จะได้รับการฉีดจะไม่ใช่ตัวที่ต้องการก็ตาม เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า วัคซีนตัวไหนจะดีที่สุดจริงๆ และหากปฏิเสธวัคซีนไปแล้ว ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะได้คิวฉีดวัคซีนอีกหรือไม่

สำหรับวัคซีนในประเทศไทยที่รัฐบาลจัดหามาให้ในขณะนี้ มี 2 ชนิด ได้แก่

1.วัคซีนป้องกันโควิด-19 แอสตราเซเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) เป็นวัคซีนแบบ Viral Vector ฉีดในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร (แนะนำให้ฉีดบริเวณต้นแขน) โดยฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ฉีดห่างจากครั้งแรก 4-12 สัปดาห์

2.CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine เป็นวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ฉีดในผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร (แนะนำให้ฉีดบริเวณต้นแขน) โดยฉีดทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ฉีดห่างจากครั้งแรก 2-4 สัปดาห์ (ผู้ที่อยู่บริเวณความเสี่ยงสูงหรือระบาดรุนแรงแนะนำให้ฉีดครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 2 สัปดาห์)

...

ส่วนวัคซีนชนิดอื่นๆ ภาคเอกชนกำลังทยอยนำเข้ามาขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อดำเนินการฉีดให้กับบุคคลที่ต้องการฉีดโดยสามารถจ่ายเงินได้ด้วยตนเองต่อไป.