พูดถึงทะเลสาบสงขลา นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในฐานะที่เป็น ลากูนหรือทะเลสาบเปิดที่มีทางออกติดต่อกับอ่าวไทย และเป็นทะเลสาบที่ใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นอกจากเรื่องความสวยงามของตัว ทะเลสาบแล้ว ทะเลสาบสงขลายังถือได้ว่าเป็นทะเลสาบที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพันธุ์ปลาในทะเลสาบสงขลามีถึง 700 ชนิด ไม่รวมสัตว์น้ำประเภทปูและกุ้งอีกกว่า 20 ชนิด...
ประเมินว่าในแต่ละปีมีการจับสัตว์น้ำจากลุ่มน้ำทะเลสาบของโครงการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาถึงประมาณ 7,000 ตัน ตีเป็นเงินก็น่าจะตกประมาณ 200 ล้านบาท
มีโอกาสลงใต้ไปเยือนสงขลาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้รู้ว่าทะเลสาบมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชุมชนโดยรอบ เป็นทั้งแหล่งโปรตีนและแหล่งทำมาหากินของประชากรไม่น้อยกว่า 7,500 ครอบครัว ได้อาศัยทรัพยากรจากทะเลสาบทั้งพืชและสัตว์ ไม่รวมประชากรอีกกว่า 100,000 ครอบครัวที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม

...
ไปสงขลาคราวนี้ เป็นการไปดูความสำเร็จของการจัดตั้ง “ธนาคารลูกปู” ที่ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา ต.หัวเขา อ.สิงหนคร ที่พัฒนามาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ และ ปตท.สผ.ได้เข้าไปสนับสนุนเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว เพื่อให้พี่น้องกลุ่มประมงพื้นบ้านมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนและยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลให้มีความสมดุลอีกด้วย
อนันต์ มานิล ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มของเขาเกิดขึ้นจากการรวมตัวของชาวประมงราว 200 คน ที่ใช้เครื่องมืออวนจมและลอบดักปูหากินในน่านน้ำทะเลสาบสงขลา ในเขต อ.สิงหนคร อ.สทิงพระ และ อ.ระโนด ตอนแรกก็ใช้ระบบเดียวกับธนาคารปูทั่วไป คือ ชักชวนให้สมาชิกนำปูที่มีไข่นอกกระดองมาให้ยี หรือ เขี่ยไข่แทนการรับเลี้ยงแม่ปูจนไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อน เพื่อย่นระยะเวลาคืนแม่ปูแก่เจ้าของ แต่หลังจากนั้นก็มาคิดกันใหม่ แทนที่จะให้ชาวบ้านเอาปูมาให้เรายี เราก็ไปสอนเขาให้ยีไข่ปูเอง ยีเสร็จก็เอามาบริจาคให้ทางกลุ่มขยายพันธุ์ต่อจนกว่าจะถึงระยะลูกปูวัยอ่อนที่พร้อมคืนสู่ทะเล

“คล้ายๆกับเอาทรัพย์สินคือไข่ปูนี่ละมาฝากไว้กับธรรมชาติให้มีชีวิตเติบโตต่อ สิ่งที่ได้คือ ดอกเบี้ยไม่รู้จบกับชาวประมงเราในอนาคต จากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มาจนถึงรุ่นพ่อ แม่ ลูก หลาน เหลน ทุกคนมีสิทธิทำมาหากินตรงนี้เป็นเจ้าของทรัพยากรตรงนี้”
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เป็นศูนย์เพาะฟักลูกปู แต่ธนาคารปูของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป. ทรัพย์อนันต์พัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา” อย่างเต็มรูปแบบ มีผู้คนแวะเวียนมาศึกษาดูงานตลอด โดยแบ่งพื้นที่เป็นห้องอบรมและจัดนิทรรศการมีชีวิตควบคู่ไปกับโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกปู

“ใครที่มาที่นี่นอกจากมาเที่ยวทะเลสาบสงขลาแล้ว ถ้ามาที่ธนาคารของเราจะได้ตักลูกปูจากบ่อเพื่อศึกษาของจริงไปพร้อมกัน มานอนที่นี่ 1 คืน จากไข่ปูจะกลายเป็นลูกปูจำนวนมหาศาล” อนันต์บอก
แม่ปู 1 ตัว ที่น้ำหนักประมาณ 1-2 ขีด จะผลิตไข่ได้ 700,000-1,000,000 ฟอง หากแม่ปูมีสุขภาพดีจะยิ่งผลิตไข่ที่แข็งแรง ไข่จะแยกเป็นเม็ดเดี่ยวและมีอัตราการฟักเป็นตัวอ่อนสูงเฉลี่ย 600,000 ตัว หรือหากแม่ปูมีน้ำหนัก 2-3 ขีดจะผลิตไข่ได้ราว 1,800,000 ฟอง และมีอัตราการฟักเป็นตัวอ่อนสูงเฉลี่ย 1,000,000 ตัว
...
ทริปพวกเราปล่อยปูตอนเช้า แล้วก็กินปูกันแบบหรอยจังฮู้ในตอนเย็น....

คุณประพนธ์ จารุไสลพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ปตท.สผ.บอกกับ เราว่า นอกจากสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแล้ว เรายังต้องทำโครงการเพื่อสังคม ซึ่งยากมากที่จะทำโครงการให้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ทุกกลุ่ม
แต่สำหรับธนาคารลูกปูเกิดขึ้นได้เพราะความใกล้ชิดกับชุมชนในพื้นที่ ทำให้เราทราบถึงปัญหาของ พี่น้องชาวประมงจากปัญหาปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง จึงเข้าไปส่งเสริมในการพัฒนาประมงอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในจังหวัดสงขลา ปัจจุบันศูนย์เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขากลายเป็นที่ศึกษาดูงานและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประมง สถานที่ฝึกอบรมเกี่ยวกับการเพาะฟักลูกปู ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดสงขลา

“ตั้งแต่ปี 2556 เราปล่อยลูกปูคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 500 ล้านตัว คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติ ทำให้เศรษฐกิจชุมชนแข็งแรง” ประพนธ์บอก
ทุกวันนี้ชาวบ้านที่นี่มีแต่รอยยิ้ม ต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ชาวประมงจับปูม้า ปูดำ ปูเสือ ได้มากกว่าเดิมหลายเท่า บางคนจับปูได้วันละ 1,000 กิโลกรัมต่อลำ มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

...
จากความสำเร็จเล็กๆ กลายเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ นอกเหนือจากช่วยอนุรักษ์ไม่ให้ปูสูญไปจากทะเลแล้ว นับจากนี้เชื่อแน่ว่าอนาคตบ้านหัวเขา สิงหนคร จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของจริงๆที่เนื้อหอมไม่เบาเลยล่ะ...!!