หากพูดถึง คุชราต หนึ่งในรัฐสำคัญของอินเดีย หลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ในความเป็นจริง...คุชราต มีความสำคัญต่ออินเดียในอดีตไม่น้อย

ด้วยเพราะความที่อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของ เส้นทางสายไหม (Silk Road) ระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตรแห่งนี้ คือ เส้นทางค้าขายที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าสองพันปี หนึ่งในสินค้าสำคัญบนเส้นทางนี้คือ เครื่องเทศ ก่อนที่จะแตกยอดออกมาเป็นสินค้าอื่นๆ

จึงไม่แปลกที่ คุชราต จะถูกเรียกขานว่าเป็น เส้นทางเครื่องเทศ (Spice Route) ที่พ่อค้าจะเดินทางจากจีนผ่านทะเลทรายไปสู่อัฟกานิสถาน

และเพราะพื้นที่ด้านตะวันตกของอินเดียมีลักษณะกึ่งทะเลทราย สุลต่านแห่งรัฐคุชราตจึงสร้าง ชลาคาร หรือ อาคารที่เป็นสระน้ำขั้นบันได (Step well) เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำของประชาชนในช่วงมรสุม ชลาคารยังเป็นที่พักของกองคาราวานเครื่องเทศที่อยู่ในความคุ้มครองของสุลต่าน

ชลาคาร เป็นวิหารหิน พบทั่วไปในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ตั้งแต่เดลลีเฉียงลงมาถึงราชสถานและคุชราต ทั้งสองรัฐนี้มีชลาคารกระจุกตัวอยู่นับพันแห่ง เฉพาะในรัฐคุชราตมี step well มากกว่าสองร้อยแห่ง ในเส้นทางที่กองคาราวานเครื่องเทศผ่านจะมี step well อยู่ทุกๆ 50 กิโลเมตร

...

คนคุชราตเรียกชลาคารว่า “เบาลี” (Baoli) หรือ “วาว” (Vav) แต่แทนที่จะสร้างอาคารให้สูงขึ้นจากพื้น กลับขุดลงใต้ดินลึกลงไปเกือบ 30 เมตร ถ้าเทียบกับอาคารสูงก็ประมาณ 7-8 ชั้น แต่ละช่วงชั้นเชื่อมด้วยขั้นบันไดทอดสลับซ้ายขวา และไหนๆก็สร้างด้วยความอุตสาหะแล้ว ชลาคาร แต่ละแห่งจึงจัดเต็มด้วยสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหิน สลักเสลาด้วยภาพนูนสูงของเทพตามคติฮินดู กลายเป็นวิหารเก็บน้ำที่ผู้คนใช้เพื่อสันทนาการและเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา

เฉพาะที่รัฐคุชราตมีชลาคารเก็บน้ำที่งามสุด ในสามโลกอยู่สองแห่งคือ รูดาเบาลี (Ruda Baoli) ในเมืองอทาลัช อายุประมาณ 500 ปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบฮินดูผสมอิสลาม เช่น หลังคารูปโดม ลวดลายปูนปั้นประดับแบบเรขาคณิตซึ่งเป็นเอกลักษณ์ อีกแห่งหนึ่งคือ รานีวาว (Rani Vav) ที่เมืองปาฏันซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของรัฐคุชราตในช่วงศตวรรษที่ 11 เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำสบาร์มาตี

รานีวาวสร้างด้วยศิลปะแบบฮินดูล้วน เพราะช่วงที่สร้างอิทธิพลของราชวงศ์โมกุลที่รับอิสลามยังมาไม่ถึงที่นี่ รานีวาวยังเป็นวิหารเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แม้ทุกวันนี้น้ำในบ่อแห้งเหือดแล้ว แต่ความงามของสถาปัตยกรรมหินทรายสีชมพูแห่งนี้ ยังครองความเป็นหนึ่งด้วยงานจำหลักภาพอวตารของพระวิษณุ ภาพปางต่างๆของพระศิวะและพระพิฆเนศ ในรัฐคุชราตมีวิหารเก็บน้ำอีกหลายร้อยแห่ง แต่ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้ดินโคลนจนยาก แก่การขุดค้น

เมื่อเดินลงบันไดลึกลงไปเรื่อยๆ อากาศยิ่งเย็นลง อุณหภูมิระหว่างด้านบนกับด้านล่างต่างกันถึง 4-5℃ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิหารเก็บน้ำในแต่ละแห่งจะเป็นพื้นที่ทางสังคมของคนในยุคก่อนที่แวะมา “ตากแอร์” เหมือนคนยุคนี้ไปเดินห้างคลายร้อน ต่างกันตรงที่คนยุคก่อนไปตากแอร์ชมศิลปะเพื่อเจริญศรัทธา ภาพสลักในลีลาต่างๆ ผุดเด่นจากผนังวิหารเพราะต้องแสงจากเบื้องบนชวนให้พิศวง

เส้นทางไปเยือนมหัศจรรย์ชลาคารทั้งสองแห่งนี้ต้องไปเริ่มต้นที่เมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) เมืองท่าของรัฐคุชราตที่ติดกับทะเลอาหรับ ซึ่งสายการบินไทยสมายล์ เปิดเส้นทางบินตรงสู่อาห์เมดาบัด เป็นเส้นทางที่ 7 หลังจากก่อนหน้านี้เปิดเส้นทางบินตรงสู่อินเดียมาแล้วถึง 6 แห่ง

...

สำหรับคุชราตเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณเก่าแก่ราว 5,000 ปี เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายทั้งศิลปะฮินดู ศิลปะอิสลามและผสมผสาน และที่สำคัญแผ่นดินนี้ยังเป็นบ้านเกิดของบุคคลสำคัญผู้เป็นมหาบุรุษของอินเดียคือ ท่านมหาตมะคานธีด้วย

มหาตมะคานธีเกิดที่เมืองพอร์บันดาร์ (Porbundar) แต่อาห์เมดาบัดเป็นเมืองที่ท่านสร้างอาศรม หรือ Gandhi Ashram อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสบาร์มาตี เพื่อเป็นที่มั่นในการทำงานแบบอหิงสาเป็นเวลา 15 ปี (ค.ศ.1915-1940)

เส้นทางเยี่ยมเยือนรัฐคุชราต จึงไม่ควรพลาดการเรียนรู้ชีวิตแห่งการเสียสละของท่านที่ พิพิธภัณฑ์คานธี หรือ คานธีสมารักษ์สังหะ-ฮาลยา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีคิดของผู้ยิ่งใหญ่ที่มีหัวใจนอบน้อม และวิธีการจัดแสดงเรื่องราวของท่าน โดยเก็บอารมณ์งานที่ทำให้เห็นความเรียบง่ายของมหาบุรุษผู้นุ่งห่ม Kadi หรือผ้าฝ้ายสีขาวจนชั่วชีวิต งานปั่นฝ้ายเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของท่าน

...

การไปเยี่ยมเยือนบ้านเกิดของมหาบุรุษผู้ยึดมั่นในการต่อสู้แบบอหิงสา ทำให้ค้นพบว่า จุดยืนที่มุ่งมั่นและใจที่สงบเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะยิ่งใหญ่ ที่ทำให้อินเดียเป็นเอกราชจากอังกฤษจนถึงวันนี้.