ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในภูมิภาค ตั้งแต่ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เปลี่ยนพฤติกรรมหันไปซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ตั้งแต่ เครื่องประดับแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ Gadgets ลง ขณะที่การนำปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ยังไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะผู้บริโภคไม่ไว้ใจคำแนะนำ ข้อเสนอ และโปรโมชันจาก AI ที่วิเคราะห์จากประวัติการซื้อสินค้าที่ผ่านมา

ผลสำรวจ EY Future Consumer Index (FCI) ฉบับที่ 13 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคกว่า 22,000 ราย ใน 28 ประเทศ โดยมีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน 3,000 ราย และ ผู้บริโภคในไทย 1,000 ราย พบว่า 95% ของผู้บริโภคไทย (89% ในอาเซียน และ 94% ทั่วโลก) กังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยคนไทย 62% (55% ในอาเซียน และ 51% ทั่วโลก) ลดการใช้จ่ายสำหรับสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นลง

โดยหมวดหมู่สินค้าที่คนไทยพิจารณาลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด ได้แก่ หมวดหมู่เครื่องประดับแฟชั่น (65% ในไทย 59% ในอาเซียน และ 61% ทั่วโลก) รองลงมาได้แก่ สินค้าหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าเป็นอันดับสอง (57%) ตามด้วยสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเป็นอันดับสาม (53%) ในขณะที่ผู้บริโภคในอาเซียนและทั่วโลก ลดค่าใช้จ่ายสินค้าประเภทของเล่นและเครื่องมืออุปกรณ์ gadgets เป็นอันดับสอง (47% ในอาเซียน และ 51% ทั่วโลก) ตามด้วยเฟอร์นิเจอร์ในบ้านเป็นอันดับสาม (45% ในอาเซียน และ 41% ทั่วโลก)

นริศรา พัตนพิบูล หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ EY ประเทศไทย กล่าวว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ผลิตสินค้าและผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก (CPR) จึงต้องปรับแผนธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการเพิ่มการใช้ช่องทางออนไลน์ มีบริการจัดส่งสินค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของลูกค้า

...

“การลดราคาครั้งใหญ่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง 72% ของผู้บริโภคชาวไทย (77% ในอาเซียน และ 61% ทั่วโลก) บอกว่าสนใจในสินค้าลดราคา โดยชาวไทยมากถึง 92% (อาเซียนและทั่วโลก 71%) เลือกรอจนกว่าสินค้าจะลดราคา จึงจะซื้อ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะของไทย จากรายงานผลการศึกษา FCI เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2565 และปี 2566 พบว่า รูปแบบการซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยผู้บริโภคนิยมการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 21% ส่วนการซื้อสินค้าที่ร้านลดลง 16%

“การเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ค้าปลีกต้องพัฒนากลยุทธ์การขายหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น AI และ Big Data เพื่อเพิ่มยอดขาย กำไร และสร้างความภักดี (Customer loyalty) ในแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจที่มีการสอบถามว่า AI มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างไร มีผู้บริโภคชาวไทย 16% (19% ในอาเซียน และ 18% ทั่วโลก) ระบุว่ามีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และการใช้งานเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างดี แต่ไว้ใจคำแนะนำที่มาจาก AI น้อยลง โดยผู้ตอบแบบสอบถามไม่ถึงหนึ่งในสาม (22% ในไทย 29% ในอาเซียน และ 21% ทั่วโลก) บอกว่าไว้ใจในโปรโมชันและข้อเสนอที่มาจาก AI ขณะที่ 21% ในไทย (28% ในอาเซียน และ 22% ทั่วโลก) บอกว่าไม่เชื่อมั่นในการแนะนำสินค้า จากประวัติการซื้อสินค้าที่ผ่านมาของพวกเขา

“ความท้าทายของเทคโนโลยี เช่น AI และ Big Data คือการสร้างความไว้วางใจในด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความโปร่งใสในการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลของผู้บริโภค อนาคตของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจช็อปปิ้งออนไลน์ ส่วนหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับการใช้นวัตกรรมและสร้างความไว้วางใจได้อย่างสมดุล โดยผู้ค้าปลีกต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า รวมถึงความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ของ AI”

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม