ผู้สูงอายุจำนวนกว่า 10-20% ของประชากรมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า โดยมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เราจะมีวิธีไหนที่ช่วยดูแลและเยียวยาจิตใจของผู้สูงวัยให้กลับมาสดใสร่าเริงได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะโรคซึมเศร้ามาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ บางคนต้องอยู่คนเดียว บางคนต้องไปอยู่สถานพักฟื้นคนชรา หรือบางคนก็ต้องอยู่กับลูกหลานเด็กเล็ก ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสภาพอารมณ์ ความรู้สึก และจิตใจของผู้สูงอายุทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ที่เมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัยระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย ก็ส่งผลให้มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายต่อสิ่งที่มากระทบจิตใจ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนที่ดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องทำความเข้าใจ และรู้จักวิธีการปฏิบัติ เพื่อดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย

ปัญหาด้านสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปัญหาด้านความเครียด, ปัญหาด้านความวิตกกังวล, ความรู้สึกลูกหลานไม่รัก ไม่เคารพ, ความรู้สึกการถูกทอดทิ้ง และความรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ยังส่งผลก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ด้วย หรือส่งผลอาการบางอย่างได้ เช่น การนอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก หรือทำให้อารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่แจ่มใส เป็นต้น

5 วิธีดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ

สำหรับการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีอะไรที่ยาก หรือซับซ้อน สิ่งสำคัญ คือ ต้องอาศัยความเข้าใจในภาวะอารมณ์ของผู้สูงอายุ ต้องมีความอดทนสูง และการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้สูงอายุ ที่บางครั้งอาจจะมีอารมณ์หรือพฤติกรรมเหมือนกับช่วงวัยเด็ก เช่น การดื้อรั้น อาการขี้น้อยใจ เป็นต้น ผู้ที่ดูแลหรือบุคคลในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุจึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจหลักการดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์ขุ่นมัว ความรู้สึกเศร้า หรือเสียใจ โดยแนวทางการดูแลสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ มีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

...

1. ดูแลสภาพจิตใจภายใน

หมั่นให้ความรักและความอบอุ่นกับผู้สูงอายุ ทั้งการพูดและการกระทำ ผู้ทำหน้าดูแลหรือบุคคลในครอบครัว ต้องหมั่นพูดคุยอย่างใกล้ชิด พยายามสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงหาเวลาว่างหาเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น รับประทานอาหาร ทำบุญ ท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและมีความสำคัญ

นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังคำพูดและท่าทางที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ ไม่แสดงความรำคาญ ไม่ต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือจับผิดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้ผู้สูงอายุจะดื้อหรือเอาแต่ใจ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์ ผ่อนคลาย และปล่อยวาง รวมทั้งสามารถปรับตัวและยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง รวมถึงเรื่องความตาย ผ่านการควบคุมลมหายใจ ฝึกคิดอย่างยืดหยุ่นและคิดบวก

2. ส่งเสริมความมีคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุจำนวนมาก จะรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความสำคัญ แถมบางคนยังมองว่าตัวเองเป็นภาระให้กับลูกหลาน ซึ่งความคิดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกภาคภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเอง ด้วยการปล่อยผู้สูงอายุพยายามช่วยเหลือตนเองในเรื่องง่ายๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน หรืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกินกำลังและไม่เป็นอันตราย

3. ส่งเสริมการเข้าสังคม

ผู้สูงอายุมักจะมีอารมณ์เหงา เพราะไม่ได้ออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือบุคคลภายนอกมากนัก การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ออกไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หรือกลุ่มวัยอื่นๆ เพื่อพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกผ่อนคลาย ลดปัญหาการเก็บตัวหรือปลีกวิเวกจากสังคมได้

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ เพื่อส่งเสริมความรู้สึกสนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นแจ่มใส กระปรี้กระเปร่า อาทิ การเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น เปตอง รำวง เต้นแอโรบิก เป็นต้น จะช่วยผ่อนคลาย และลดความเครียดได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

4. การฝึกสมอง-ระบบความคิด

ปัญหาที่มักเกิดกับผู้สูงอายุคือ ภาวะความจำเสื่อม หรือสมองเสื่อม ดังนั้น การฝึกให้ผู้สูงอายุเล่นเกมที่ช่วยฝึกฝนด้านความจำหรือฝึกสมอง เช่น หมากรุก อักษรไขว้ ต่อคำ ต่อเพลง คิดเลข หรือการจดจำข้อมูลต่างๆ เช่น วัน เวลา สถานที่ บุคคล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น จะช่วยลดการเกิดปัญหาดังกล่าว และยังส่งเสริมความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ การฝึก การวางแผน และการแก้ไขปัญหาเพื่อชะลอความเสื่อมของสมองในด้านต่างๆ ด้วย

...

5. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง

การมีร่างกายที่แข็งแรง ดูแบบผิวเผินอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสภาพอารมณ์เท่าไรนัก แต่ความจริงแล้ว การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง ทำอะไรได้คล่องแคล่ว จะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะการที่ผู้สูงอายุทำอะไรได้ด้วยตนเอง เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของลูกหลาน แถมการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ก็ยังทำให้ระบบฮอร์โมนและระบบการทำงานภายในร่างกายดีขึ้นกว่าการไม่ออกกำลังกายด้วย ผู้สูงอายุบางคนที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ การออกกำลังกายก็ยังจะช่วยทำให้หลับได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น จึงควรหมั่นให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

...

การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ จำเป็นจะต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ ความอดทน และการยอมรับ กับสภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุที่ไม่เหมือนเดิม จึงมีคำพูดว่าผู้สูงอายุ มีนิสัยเหมือนเด็ก ผู้ที่ดูแลและบุคคลในครอบครัวจึงต้องเข้าใจในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพื่อดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ให้แจ่มใส่ สุขภาพจิตดีอยู่เสมอ และลดปัญหาด้านอื่นๆ ที่อาจจะตามมาภายหลังได้


อ้างอิง: กรมสุขภาพจิต, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์