กว่า 15 ปีที่ สสส. จับมือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสงกรานต์ปลอดเหล้าเพื่อให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขของทุกคนอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ที่ดีด้านต่างๆ ก็ปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ยังขานรับและจับมือเพื่อสานพลังมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2567 ที่เทศกาลสงกรานต์ของไทยได้รับการประกาศจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” สงกรานต์ที่สนุกและปลอดภัยจึงนับเป็นเป้าหมายสำคัญของเทศกาลแห่งความสุขครั้งนี้ด้วย โดยปีนี้หลายภาคส่วน พร้อมทั้งกว่า 60 ถนนตระกูลข้าวทั่วประเทศ ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” โดยจัดกิจกรรมนำร่องเพื่อสื่อสารแนวคิดนี้ ก่อนที่เทศกาลสงกรานต์จริงจะระเบิดขึ้นทั่วประเทศ ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ

สถิติชี้ชัด สงกรานต์ NO L สนุกและปลอดภัย

“สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” นับเป็นเป้าหมายสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ของไทยในปีนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของความสนุกและปลอดภัยอย่างหนึ่งคือการสร้างสรรค์งานสงกรานต์ที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นสาเหตุของทั้งความรุนแรง อุบัติเหตุ ไปจนถึงความมีปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ โดยจากการขับเคลื่อนอย่างจริงจังของ สสส. และภาคีเครือข่ายตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นด้วยว่า การจัดงานสงกรานต์ในแนวทางนี้ไม่ได้ลดทอนความสนุกสนานลง ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นความสนุกที่มาพร้อมความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดีอีกเช่นกัน

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าในปี 2566 ที่ผ่านมาที่ สสส. ได้เข้าไปสนับสนุนให้เจ้าของสถานที่ในพื้นที่ต่างๆ จัดงานสงกรานต์ ผ่านการส่งเสริมให้มีพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า และได้พบสถิติที่น่าสนใจว่า เป็นสงกรานต์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติพอใจการจัดงานสงกรานต์ปลอดเหล้ามากถึง 88.90% คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดสงกรานต์แบบปลอดเหล้า 75.83% เห็นด้วยจัดโซนนิ่งเล่นน้ำ 79.23% เห็นด้วยกับมาตรการควบคุมไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่จัดงาน 77.74% รวมทั้งยังเห็นด้วยที่เจ้าภาพจัดงานไม่รับสปอนเซอร์จากธุรกิจเหล้า-เบียร์ 73.16% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็นคนไทย 939 คน และต่างชาติ 400 คน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงสงกรานต์ปี 2566

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประโยชน์ของการจัดงานแบบปลอดเหล้า ยังพบด้วยว่า

● ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เพิ่มมากขึ้น 90.42%
● สามารถลดอุบัติเหตุ 89.99%
● ลดการทะเลาะวิวาท 89.67%
● ลดการลวนลามล่วงละเมิดทางเพศ 85.20%
● และการจัดงานแบบปลอดเหล้าไม่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 80.30%

ซึ่ง ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจับมือกันอย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนสงกรานต์ NO L ที่ไม่ใช่การเดินหน้าของ สสส. เองเท่านั้น แต่หมายถึงความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม รวมถึงเจ้าของพื้นที่ และเจ้าภาพจัดงานในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวทั่วประเทศมากกว่า 60 ถนนตระกูลข้าว ที่จัดพื้นที่สงกรานต์ NO L กับอีกกว่า 100 พื้นที่เล่นน้ำขนาดใหญ่กระจายทุกจังหวัดที่ร่วมพิสูจน์แล้วว่า การจัดงานสงกรานต์ที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนุก ปลอดภัย และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเช่นกัน

มหาสงกรานต์ World Songkran Festival 2024

สำหรับปี 2567 นี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง ในวาระที่ยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนงานเทศกาลสงกรานต์ของไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน ในรูปแบบต่างๆ โดยกระทรวงวัฒนธรรมยังร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จัดกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ และมีการจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศแล้ว 4 ภาษาเบื้องต้น ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส และเตรียมเปิดตัวอีก 8 ภาษา ที่จะทยอยตามมาอีก อาทิ ภาษาเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม พม่า ฮินดี เพื่อสร้างสีสันและเฉลิมฉลองร่วมกัน

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในขณะที่ถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมากกว่า 60 ถนนตระกูลข้าว รวมถึงอีกกว่า 100 พื้นที่เล่นน้ำขนาดใหญ่กระจายทุกจังหวัดได้ขานรับ และเตรียมพร้อมสำหรับการจัดงานสงกรานต์ที่ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเช่นทุกปีขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมนำร่อง ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อสื่อสารแนวคิดนี้ก่อนที่เทศกาลสงกรานต์จริงจะระเบิดความสนุกขึ้นทั่วประเทศ

นำโดยถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ที่นับเป็นต้นแบบสงกรานต์ปลอดเหล้าของไทย ซึ่งชูโรงไฮไลต์สำคัญเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาอย่างการทำกิจกรรมคลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้กว่าหนึ่งแสนคนในปีที่ผ่าน นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น “ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์” กล่าวว่าการจัดกิจกรรมสงกรานต์ไร้แอลกอฮอล์คือความสำเร็จที่เกิดขึ้นร่วมกันของคนขอนแก่น ที่ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความปลอดภัยด้วย เพราะเมื่อพื้นที่จัดงานมีความปลอดภัยมากขึ้น ผู้คนก็พร้อมจะออกมาร่วมสนุกมากขึ้น เช่นเดียวกันกับรองนายกเทศมนตรีจังหวัดร้อยเอ็ด “ดร.นุชากร มาศฉมาดล” ที่บอกว่าการจัดงานสงกรานต์ NO L ที่ถนนข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความปลอดภัยและความสุขมากขึ้น โดยกว่า 10 ที่ผ่านมาที่เข้าร่วมขับเคลื่อนสงกรานต์ปลอดเหล้ากับ สสส. ยังได้พบข้อดีที่เกิดขึ้นมากมาย อาทิ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลที่ลดลง ไปจนถึงช่วยการลดการคุกคามทางเพศลงได้ด้วย การเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยก็ช่วยกระตุ้นให้สงกรานต์เป็นเทศกาลของทุกคนได้มากขึ้น

นอกจากถนนข้าวเหนียว และถนนข้าวหอมมะลิ ที่ช่วยยืนยันความสำเร็จของสงกรานต์ NO L แล้ว ครั้งนี้ยังมีตัวแทนของถนนตระกูลข้าว พร้อมกับเจ้าภาพจัดงานสงกรานต์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมยืนยันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นถนนข้าวฮาง จังหวัดสกลนคร ถนนข้าวแต๋น จังหวัดน่าน ถนนข้าวทิพย์ จังหวัดจันทบุรี ถนนข้าวเกรียบงาดำ จังหวัดตาก ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี เจ้าภาพจัดงานพื้นที่เล่นน้ำรอบคูเมืองเชียงใหม่ สงกรานต์วิถีวัฒนธรรมมอญ (ราชบุรี) สงกรานต์ไทยทรงดำ รวมถึงพื้นที่เอกชน อาทิ สงกรานต์โนแอล ที่หน้าห้าง LimelightAvenue จังหวัดภูเก็ต สงกรานต์ NO L สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพื้นที่เล่นน้ำและพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ของกรุงเทพมหานครอีกกว่า 118 จุด และ 15 จุดใหญ่ที่พร้อมใจขับเคลื่อน “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง”

ครั้งนี้จึงนับเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเทศกาลสำคัญไปในมิติใหม่ เป็นสงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง โดยมี 5 แนวทางขับเคลื่อน ซึ่งคุณวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวถึง นั่นคือ 1. เพื่อการสืบสานรักษาคุณค่าวิถีวัฒนธรรมสงกรานต์ไทยให้ทั้งโลกได้มองเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความหมายงานประเพณีสงกรานต์ในแง่มุมที่ดีงาม 2. ร่วมรักษามาตรฐานพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น 3. ร่วมเสนอแนวทางป้องกันความปลอดภัยและควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง โดยจัดให้มีการทำงานของหน่วยเฉพาะกิจดูแลเป็นพิเศษ มีกล้อง CCTV คอยสอดส่อง พร้อมตรวจตราไม่ให้มีการดื่มการขายน้ำเมาในพื้นที่เล่นน้ำ 4. ร่วมขยายผลให้เกิดความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำของภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลดความสูญเสีย ไม่เป็นแหล่งผลิตคนเมาลงถนน 5. ร่วมสร้างค่านิยมให้การดื่มแล้วขับเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ สังคมไทยทุกฝ่ายต้องใช้ทุกโอกาสในการช่วยกันสื่อสารเพื่อเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม

แนวทางต่างๆ เหล่านี้ถูกขับเคลื่อนร่วมกันอย่างจริงจังและมีพลัง “สงกรานต์วิถีไทย สนุกปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” ก็จะเกิดขึ้นและนำไปสู่ความยั่งยืน และกลายเป็นเทศกาลแห่งความสุขของทุกคนอย่างแท้จริง