ด้วยความขยัน มุ่งมั่น มุมานะอดทน เรียนรู้ มีวินัย และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทำให้ สุภกมล–สุภจิต วรรธนะดิษฐ์ สองพี่น้องนักขี่ม้าดาวรุ่ง ประสบความสำเร็จเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการกีฬาขี่ม้า ด้วยการเป็นนักกีฬาขี่ม้าคนแรกของประเทศไทย ในประเภทศิลปะการบังคับม้า ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก “กรังด์ ปรีซ์” ที่สหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ (FEI) ยกให้เป็นระดับสูงสุดของการแข่งขันกีฬาขี่ม้า

สองสาว “แพม–สุภกมล” และ “แพตตี้–สุภจิต” เล่าถึงเส้นทางการเป็นนักกีฬาขี่ม้าว่า ตอน แพม เป็นเด็กเคยลองขี่ม้าตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แล้วชอบ เมื่อได้โอกาสลงแข่งขันครั้งแรก แล้วรู้สึกว่านี่เป็นกิจกรรมที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ส่วน แพตตี้หัดเรียนขี่ม้าตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะเห็นพี่สาวขี่ม้า แล้วมาเป็นนักกีฬาขี่ม้าลงแข่งขันเช่นเดียวกัน โดยเราเลือกที่จะลงแข่งประเภทศิลปะการบังคับม้า ซึ่งเราทั้งสองคนก็ค่อยๆ เริ่มจากการแข่งขันระดับ 1 เรียนรู้ ฝึกฝน และลงแข่งขันหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง คุณพ่อ–สุภกิต วรรธนะดิษฐ์ บอกว่าถ้าทำผลงานแข่งขันดี คว้าแชมป์ประเทศไทยได้ก็จะซื้อม้าให้พวกเรา เราก็ทำสำเร็จแล้วก็มีม้าเป็นของตัวเอง จากนั้นเราอยากยกระดับตัวเองให้เก่งขึ้นในฐานะนักกีฬาขี่ม้า คุณแม่–ชื่นหทัย วรรธนะดิษฐ์ จึงตัด สินใจพาไปใช้ชีวิตที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งยุโรป เป็นศูนย์กลางของวงการกีฬาขี่ม้าระดับโลก โดยเฉพาะเนเธอร์แลนด์ ซึ่งที่เนเธอร์แลนด์เราเรียนพื้นฐานและเทคนิคการเป็นนักกีฬาขี่ม้าตั้งแต่เริ่มต้นอีกครั้ง โดยมี อิมเก้ เชลเลเกนส์-บาร์เทล อดีตนักกีฬาขี่ม้าหญิงของแดนกังหันลม ดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิก ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง และเหรียญทองแชมป์โลก ปี 2010 ที่เคนตักกี ประเภทศิลปะการบังคับม้า เป็นผู้ฝึกสอนทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

...

กว่าจะก้าวมายืนหนึ่ง ทั้งคู่ต่างฝึกฝนอย่างหนัก โดยเล่าว่า กิจกรรมที่ทำในแต่ละวันของพวกเรา ตอนเช้า 08.00 น. จะลงมาที่คอกม้า มีโอกาสได้เห็นม้าทุกๆวัน ฝึกซ้อมขี่ม้า 5 วัน ต่อสัปดาห์ โดยขี่เอง, เดิน, ฝึกม้าตีวง รวมทั้งต้องให้อาหารและทำความสะอาดคอกด้วย นอกจากการฝึกฝนอย่างหนักแล้วนี้ในการแข่งขันจำต้องมีจิตใจ มีสมาธิที่ต้องฝึกการแก้ปัญหาเช่นกัน

“เวลาเราลงแข่งที่สนามต่างๆก็มักเจออุปสรรคหลายอย่างให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง เช่น บางครั้งม้าของเราก็ตกใจกับเสียงต่างๆ ที่ดังอยู่รอบสนามอย่างเสียงประกาศออกลำโพง หรือทีมงานข้างสนามทำงาน ส่งเสียงดัง เลยทำให้มันเกิดอาการตื่นตระหนก ต้องคอยกอด คอยปลอบ แต่ถ้าถามว่าอะไรคือปัญหาสำคัญที่สุด ก็คือ “จิตใจของเราเอง” เพราะเวลาเราไปแข่งขัน เจอสนามใหม่ๆ เจอแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น กลัวว่าจะทำผลงานไม่ดี เพราะต่อให้ซ้อมมาดีแค่ไหน มันก็ไม่เหมือนกับเวลาลงแข่งจริง อย่างไรก็ตาม พอได้ลงสนามมากขึ้น ความกลัว ความกังวลก็ค่อยๆหมดไป เหลือแต่ความมุ่งมั่นที่อยากจะทำให้ดีที่สุดไม่ว่าเจออุปสรรคอะไรก็ตาม เพราะถึงจะทำได้ไม่ดี มันก็จะเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้กลับมาศึกษาและแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น” สองสาวเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา

นอกจากเรื่องกีฬาแล้ว ทั้ง 2 คนเก่งยังเด่นในเรื่องการเรียน ซึ่ง แพม จบปริญญาโท Corpo rate and Commercial Law, Maastricht Univer sity, Netherlands, ปริญญาตรี Liberal Arts, University College Maastricht, Nether lands ส่วน แพตตี้ ปริญญาตรี Politics, King’s College, London (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) และกำลังจะเรียนต่อปริญญาโท สำหรับเป้าหมายต่อไปของสองสาว พวกเธอบอกว่า แพม จะลงแข่งขันในรายการระดับกรังด์ ปรีซ์ เพิ่มเติมเพื่อเก็บคะแนนสะสมให้ผ่านเกณฑ์ที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันขี่ม้าในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะกลายเป็นนักกีฬาคนแรกของประเทศไทยที่ได้ลงแข่งขันกีฬาขี่ม้าในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก” ส่วน แพตตี้ ก็ตั้งเป้าจะลงแข่งรายการต่างๆเพิ่มเติมเพื่อเก็บประสบการณ์และคะแนนสะสมให้ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย แล้วได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของชาติในการแข่งขันกีฬา เอเชียนเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน-8 ตุลาคม ปี 2023.