ผมเห็นภาพบ้านหมอบรัดเลย์ ปากคลองบางกอกใหญ่...ในหนังสือสยามพิมพการ พิมพ์ครั้งที่ 2 ม.ค.2565 (สุจิตต์ วงษ์เทศ บก.) อาคารสองชั้น หลังคาแหลมทรงไทย ตระหง่านอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่น้อย...ถึงกับอึ้งทึ่งไปทันที
บ้านหลังนี้มีคุณูปการอเนกอนันต์กับคนไทย เป็นทั้งโบสถ์เผยแพร่คริสต์ศาสนา เป็นทั้งโรงพยาบาล และเป็นทั้งโรงพิมพ์ และที่ควรจดจำไว้ บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์รายวันเล่มแรกของไทย
หมอบรัดเลย์ล้มเหลวด้านเผยแพร่ศาสนา แต่ประสบความสำเร็จ ด้านเป็นหมอริเริ่มการแพทย์แบบฝรั่ง และประสบความสำเร็จด้านการพิมพ์ พิมพ์หนังสือดีๆไว้มากมาย
สามก๊ก เลียดก๊ก ก็ใช่ปฐม ก.ก.ที่เด็กไทยสมัยนั้น ได้หัดเรียนเขียนอ่านก็ใช่
หมอบรัดเลย์ย้ายที่ทำงาน จากย่านวัดเกาะสำเพ็งมาอยู่หน้าวัดประยุรวงศ์ ฝั่งธนบุรีจนปี 2394 ก็ย้ายมาลงหลักปักฐานมั่นอยู่หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางกอกใหญ่
“สยามพิมพการ” บอกว่า หมอบรัดเลย์ เริ่มหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้ว ที่โรงพิมพ์หน้าวัดประยุรฯราวปี พ.ศ.2387-2388 ถึงปี พ.ศ.2394 รัชกาลที่ 4 โปรดให้ย้าย ก็พิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ โรงพิมพ์ใหม่ต่อ
ผมอ่านแล้วมีเหตุให้ตั้งใจจำตัวเลข พ.ศ.2394 เพราะเป็นปีเดียวกับที่ นสพ.นิวยอร์กไทม์เริ่ม
เรื่องราวตอนนี้ผมอ่านจากคอคิดข้อเขียนเล่ม 3 อาจารย์ กาญจนาคพันธุ์ เล่าว่า “นิวยอร์กไทม์” ชุดข่าวใหญ่ๆไว้มาก ตอนนั้น ประธา นาธิบดีลินคอล์น แม่ทัพฝ่ายเหนือ กำลังทำสงครามกับทัพฝ่ายใต้
บทปราศรัยที่โลกบันทึกไว้ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน นิวยอร์กไทม์ก็รายงานข่าวนี้
นิวยอร์กไทม์อยู่ยั้งยืนยงคงมาได้กว่าร้อยปี แต่บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเลย์ที่เริ่มก่อนเจ็ดปี ด้วยเหตุปัจจัยมากมาย ทุนน้อย ถูกฝรั่งเศสฟ้องไม่มีเงินค่าเสียหาย ฯลฯ
...
แม้ทำข่าวใหญ่ๆมากมาย ข่าวสะดุดใจ เช่น หม่อมราโชทัย ตัวแทนรัฐบาลไทยถูกกงสุลฝรั่งตบหน้า ทำได้แค่ 23 ปีไม่มีทุนทำต่อก็เจ๊ง
ย้อนไปถึงตัวเลข พ.ศ.2394 ที่ผมจำ...เพราะอีกร้อยปีต่อมาคือ พ.ศ.2494 มีกบฏแมนฮัตตัน ร.ล.สุโขทัย ถูกฝ่ายรัฐบาลสั่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกฯอยู่ในเรือ
จุดที่เรือสุโขทัยจมตรงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ หรือจะว่าไปก็คือหน้าโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ ทางการไทยติดต่อทหารญี่ปุ่นมากู้เรือผมเดาเอาบ้านหมอบรัดเลย์ที่เพิ่งเห็นในหนังสือสยามพิมพการ...จึงต้องถูกรื้อ
ใช้สถานที่ปลูกโรงเรือนหลังคาสังกะสี ให้คณะกู้ ร.ล.สุโขทัย ซึ่งใช้เวลาราวสองปี
อ่านนิทานชาวไร่ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี ครูใหญ่ทหารเรือ เล่าไว้ว่า ทหารที่ทำงานในวังเดิม (กองทัพเรือ) รู้จักและคุ้นเคยกับ “แหม่มหลิน” ลูกสาวคนหนึ่งของหมอบรัดเลย์ดี
เพราะที่ตั้งโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ หลังป้อมวิชัยประสิทธิ์นั้น อยู่ห่างกันแค่เดินไม่กี่ก้าว
จึงมีเรื่องใหม่ให้ผมเดาต่อ สัญญาเช่าที่ ที่หมอบรัดเลย์กับรัชกาลที่ 4 คงมีอายุ 100 ปี น.อ.สวัสดิ์ เขียนว่า “แหม่มหลิน” ซึ่งมีสามีชื่อนายชม เป็นคนไทย ย้ายออกไป ช่วงเวลากู้เรือสุโขทัยนั่นเอง
จบภารกิจกู้เรือ...โรงเรือนหลังคาสังกะสี...หลังนั้นก็ถูกทิ้งไว้...เป็นที่พัก ภาษาทหารเรือเรียกกราบ (ไม่ใช่กรม) ของพวกพลทหารเกณฑ์ สังกัดหมวดเรืออุทกศาสตร์ รุ่นผม ทร.09 ก็อยู่ตลอด 22 เดือนที่ประจำการ
ที่ดินผืนนั้น ไม่กว้างขวางกระไรนัก สักสี่ห้าไร่...
ก่อนหน้านั้นเกือบสองร้อยปี คือที่ดินผืนที่ประวัติศาสตร์เขียนว่า ประหารพระเจ้าตาก ผมขอเล่าด้วยความภาคภูมิใจ อยู่มาแล้ว สารภาพตอนนั้นไม่รู้อะไร จึงหลับสบายทุกคืน.
กิเลน ประลองเชิง