หลายข้อสงสัยที่นักวิจัยมีต่อกลุ่มมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (Neanderthals) ที่เป็นสายพันธุ์ใกล้ชิดบรรพบุรุษมนุษย์เรา เช่น พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดี หรือว่าพวกเขาต้องการสภาพแวดล้อมที่มีอากาศอบอุ่นมากกว่า เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ นักวิจัยจึงออกสำรวจพื้นที่ที่กลุ่มมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเคยอาศัยอยู่ โดยเฉพาะที่หมู่บ้านลิชเทินแบร์ก ในภูมิภาคเวนด์แลนด์ของเยอรมนี

ทีมวิจัยหลายสถาบันนำโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมักซ์ พลังค์ ที่ศึกษาด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ในเมือง ไลป์ซิกของเยอรมนี ตรวจสอบซากวัตถุที่หลงเหลืออยู่ของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล เพื่อสำรวจรายละเอียดความสัมพันธ์ระหว่างการปรากฏตัวของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ในทางตอนเหนือ กับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทีมวิจัยพบว่าในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้ายนั้นมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลได้ไปเยือนพื้นที่ตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือสุดของพวกเขาแม้จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น

นอกจากนี้ยังศึกษาพบว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัลได้ครอบครองชายฝั่งทะเลสาบที่มีป่าไม้เล็กๆเมื่อประมาณ 90,000 ปีก่อน ซึ่งมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างอบอุ่น โดยเครื่องมือหินที่พบในที่ตั้งฐานที่อยู่เดิมนั้น เป็นเครื่องยืนยันถึงกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งานไม้ การแปรรูปพืช และที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงในเครื่องมือหินก็บ่งบอกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัลมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป.

Credit : M. Weiss / M. Hein