ประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว ชายอายุประมาณ 30 ปีคนหนึ่งในดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ถูกฝังพร้อมกับชุดเกราะที่มีลักษณะเหมือนเกล็ดหนังเรียงร้อยต่อกัน จัดว่าเป็นอาภรณ์ทางทหารที่ออกแบบมาอย่างวิจิตรบรรจงและหายากมาก โดยพบที่สุสานหยางไห่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีใกล้เมืองตูร์ฟานตั้งอยู่ที่ชายขอบทะเลทรายทากลามากัน

ล่าสุดทีมนักวิจัยนำโดย แพทริก แวร์ตมันน์ นักวิจัยจากสถาบันตะวันออกและเอเชียศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ เผยว่า นี่คือเสื้อเกราะที่ใช้ป้องกันตัวที่ทำออกมาเป็นแบบเดียวเพื่อเหมาะกับทุกสถานการณ์ มีน้ำหนักเบา และมีประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้กับกองทัพทหารขนาดใหญ่ ทีมวิจัยระบุว่าเกราะหนังเกล็ดโบราณนี้เป็นตัวอย่างแรกๆ ของสิ่งที่เรียกกว่า “ไบโอนิค” คือการใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติมาสร้างเทคโนโลยีของมนุษย์ ซึ่งเกล็ดหนังที่ทับซ้อนกันเหมือนเกล็ดปลา จะช่วยให้ผิวหนังของมนุษย์รอดพ้นจากการถูกโจมตี ไม่ว่าจะเป็นถูกแทงหรือถูกยิง
ทีมวิจัยได้ลองสร้างชุดเกราะขึ้นมาใหม่ ก็พบว่ามีเกล็ดหนังขนาดเล็ก 5,444 ชิ้น และเกล็ดขนาดใหญ่กว่า 140 ชิ้น ดูเหมือนว่าจะทำจากหนังวัวดิบ จัดเรียงเป็นแถวแนวนอนและเชื่อมต่อด้วยเชือกหนังผ่านรอยที่บากไว้ มีอายุระหว่าง 786-543 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ ในหลุมศพของชายผู้นี้ยังพบเครื่องปั้นดินเผา อุปกรณ์ที่ใช้บังคับหัวม้า 2 ชิ้นทำจากไม้และเขาสัตว์ รวมถึงกะโหลกแกะด้วย.
...
(ภาพประกอบ Credit : Wertmann et al. 2021; CC BY-NC-ND 4.0)