แม้ว่าดวงตาของมนุษย์จะมองเห็นสิ่งต่างๆได้ แต่ก็ยังห่างไกลจากความสามารถของดวงตาสัตว์หลายชนิด เช่น กั้งตั๊กแตนตำข้าว ที่ดวงตาของมันมีเซลล์รับแสงมากถึง 16 สีที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังไวต่อแสงอัลตราไวโอเลต แสงที่ดวงตามองเห็นได้ และแสงจากคลื่นอินฟราเรดระยะสั้น ในขณะที่ดวงตาของมนุษย์มีเซลล์รับแสงเพียง 3 สี คือ แดง น้ำเงิน เขียว
ล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเฟนในเนเธอร์แลนด์รายงานว่า ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ที่ใช้แสงที่มีความยาวคลื่นย่านใกล้อินฟราเรดแบบใหม่ที่ง่ายต่อการผลิต และ
ออกแบบให้มีขนาดเล็กเทียบได้กับขนาดเซ็นเซอร์ที่อยู่ในสมาร์ทโฟน เพื่อพร้อมต่อการใช้งานได้ทันทีในการตรวจสอบกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการเกษตร อุปกรณ์เซ็นเซอร์แบบใหม่ได้เลียนแบบลักษณะการทำงานของดวงตากั้งตั๊กแตนตำข้าว ติดตั้ง เซ็นเซอร์ที่แตกต่างกัน 16 ตัวและไวต่อแสงจากคลื่นอินฟราเรดระยะสั้นทั้งหมด ทีมเผยว่า การย่อขนาดเซ็นเซอร์ให้เล็กจิ๋วในขณะที่รักษาต้นทุนให้ต่ำได้นับเป็นความท้าทายหลัก เพื่อลดความยุ่งยากในการออกแบบข้อกำหนดสำหรับอุปกรณ์
ทีมได้ทดลองใช้เซ็นเซอร์ใหม่นี้วัดคุณสมบัติทางโภชนาการของนม และพลาสติก พบว่าเซ็นเซอร์ให้ความแม่นยำเทียบเท่ากับการทำนายปริมาณไขมันในนมด้วยเครื่องสเปกโตรมิเตอร์ทั่วไป และเซ็นเซอร์ยังจำแนกประเภทของพลาสติกได้เช่นกัน นักวิจัยคาดว่าเซ็นเซอร์นี้จะสามารถใช้ในการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและการเกษตร เช่น การตรวจสอบความสุกของผักและผลไม้ได้ในอนาคต.
(ภาพประกอบ Credit : Eindhoven University of Technology)