หลุมฝังศพไม่ใช่แค่รูปธรรมเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงแนวคิดของมนุษย์ โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ค้นพบจากหลุมลึกจึงสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนโบราณ อันเป็นระบบและเป็นรูปแบบของการแสดงออกทางวัฒนธรรม ว่าคนโบราณจัดการเรื่องของพวกเขาอย่างไร สะท้อนความกตัญญูผ่านหลุมฝังศพอย่างไร และใช้สุสานเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือแม้กระทั่งกิจกรรมทางสังคมอย่างไร
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันโบราณคดีแห่งมณฑลส่านซีเผยว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 จนถึง พ.ย.2564 นักโบราณคดีได้ขุดพบสุสานโบราณถึง 3,648 แห่งมีอายุมากกว่า 2,200 ปีในเขตเว่ยเฉิง เมืองเสียนหยาง ของมณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนนับเป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง เนื่องจากเป็นการพบสุสานโบราณมากกว่า 3,000 แห่งในสุสานเดียว และยังเป็นกลุ่มสุสานหลายตระกูลสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จนถึงราชวงศ์ถัง รวมถึงเป็นที่ฝังศพของบุคคลชั้นสูงทั้งระดับราชวงศ์และขุนนางในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารของราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง โดยในจำนวนนั้นมีชายที่เป็นพระญาติของพระจักรพรรดิถังเสวียนจง แห่งราชวงศ์ถัง และลูกพี่ลูกน้องชายของพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน ถูกฝังอยู่ในพื้นที่สุสานแห่งนี้ด้วย
นักโบราณคดีเผยว่า สุสานแห่งนี้ผ่านกาลเวลามายาวนาน ตั้งแต่ปลายยุคเลียดก๊ก ไล่เรียงมาจนถึงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ดังนั้น รูปแบบของการฝังศพจึงเป็นไปตามลำดับเวลา ซึ่งตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง หมิง และชิง สุสานก็ถูกใช้เป็นสุสานสำหรับคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนกว่า 16,000 ชิ้น ที่น่าสนใจก็เช่น พระพุทธรูปทองคำและสัมฤทธิ์ 2 องค์ที่เก่าแก่สมัยปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ซึ่งมีคุณค่าต่อการวิจัยที่สำคัญด้านวัฒนธรรมและพุทธศาสนา.
...