พื้นที่ระบบนิเวศ เจโฮ ไบโอตา (Jehol Biota) เป็นระบบนิเวศโบราณในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออก เฉียงเหนือของจีน เป็นแหล่งทับถมของพืชและสัตว์ยุคครีเตเชียสอย่างหนาแน่นและหลากหลาย โดยเฉพาะเป็นจุดสนใจของการขุดค้นและศึกษาซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ที่มีขนเหมือนนก

ล่าสุด มีการวิจัยใหม่ของนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งชาติจีน ในกรุงปักกิ่ง ได้สร้างสภาพอากาศที่เย็นและระดับความสูงของพื้นที่ระบบนิเวศ เจโฮ ไบโอตา ขึ้นใหม่ โดยใช้องค์ประกอบไอโซโทปของแร่ธาตุคาร์บอเนตที่ก่อตัวในดิน ทำให้ประเมินได้ว่าอุณหภูมิอากาศและระดับความสูงของเจโฮ ไบโอตาอยู่ที่ประมาณ 125 ล้านปีก่อน และพบว่าอุณหภูมิในฤดูใบไม้ผลิต่ำประมาณ 6 องศาเซลเซียส ชี้ให้เห็นว่ามีอากาศเย็น เป็นการหักล้างความคิดเดิมที่เชื่อว่าอุณหภูมิในยุคครีเตเชียสตอนต้นอยู่ในระดับสูง โดยอิงข้อมูลตามอุณหภูมิมหาสมุทรในภูมิภาคนั้นอยู่ที่ประมาณ 15-35 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความสอดคล้องกับสภาพอากาศแบบเรือนกระจก ดังนั้น แบบจำลองใหม่ที่ชี้ว่าอุณหภูมิต่ำจึงเป็นปรากฏการณ์พิเศษที่ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดเช่นนั้น

นักบรรพชีวินวิทยาพบว่าระดับความสูงของเจโฮ ไบโอตาในยุคครีเต เชียสน่าจะอยู่ที่ 3-4 กิโลเมตร พร้อมระบุว่าดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในยุคนั้นเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดภูเขา ซึ่งข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่แห่งนี้อาจให้ความกระจ่างที่สำคัญเกี่ยวกับซากฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากมายที่ถูกธรรมชาติเก็บรักษาไว้ที่นั่น.