“การแยกกักตัวอยู่บ้านหรือชุมชน” (Home Isolation/Community Isolation) เป็นหนึ่งในแนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และเป็นทางเลือกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ยังสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล อาจอยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้นๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือที่ชุมชนจัดไว้ให้ อีกทั้งยังเป็นทางออกที่จะช่วยลดปัญหาของระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก และช่วยลดปัญหาผู้ป่วยล้นเตียง
นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการไม่รุนแรง ยังอยู่ในกลุ่มสีเขียว สามารถแยกตัวเองเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้านหรือในสถานที่ที่แต่ละชุมชนจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในสถานพยาบาล ตลอดจนเป็นการช่วยให้มีเตียงเพียงพอสำหรับให้บริการรักษาผู้ป่วยที่มีความรุนแรง

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 7 กันยายน 2564 ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชนประมาณ 30,000 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน โดยการประเมินอาการและส่งยาที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม
...
“การต้องแยกตัวเองอยู่บ้านคนเดียวเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจเนื่องจากถูกจำกัดบริเวณ จำกัดการกระทำบางอย่าง รวมทั้งขาดการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ทำให้ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของการนอนหลับ มีความเครียด ความกังวล บางคนมีภาวะซึมเศร้า หมดหวัง หมดกำลังใจ และนำไปสู่การตัดสินใจทำร้ายตัวเองได้” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตให้ข้อมูลและว่า ในช่วงที่ต้องแยกกักตัวที่บ้านหรือแยกกักตัวในชุมชน นอกจากการดูแลสุขภาพกายให้ดีแล้ว การดูแลสุขภาพจิตของตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัว เกรงว่าจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตจนนำไปสู่การตัดสินใจทำร้ายตนเอง
นพ.จุมภฏ บอกว่า กรมสุขภาพจิตได้ออกแนวทางการดูแลสุขภาพจิตตนเองสำหรับผู้ป่วย รวมถึงแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่หรือจิตอาสาให้สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลจิตใจผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำในการดูแลจิตใจตนเองในระหว่างการแยกกักตัวอยู่ที่บ้านหรือในชุมชน เริ่มจากการหมั่นสังเกตและประเมินสุขภาพจิตของตนเอง หากระหว่างที่แยกกักตัวแล้วรู้สึกเครียดมาก มีปัญหาการนอน ท้อแท้ สิ้นหวัง หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ขอให้หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ความรู้สึก เช่น ออกกำลังกายที่ทำได้ภายในบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง หรือโทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นสามารถโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 หรือทางไลน์ @1323forthai เพื่อขอคำปรึกษาช่วยเหลือเบื้องต้น

โดยสามารถทำได้ใน 2 ช่วงด้วยกัน
1.ก่อนเริ่มแยกตัวหรือกักตัว ให้ผู้ดูแลหรือตัวผู้ป่วยเองประเมินตามเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้ มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวชมาก่อนหรือไม่ มีประวัติติดหรือรักษาด้านสารเสพติด ได้แก่ สุรา กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน หรือไม่ มีความคิดอยากตายหรือเคยทำร้ายตัวเองหรือไม่
2.เริ่มแยกตัวหรือระหว่างแยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชน ให้ยึดหลักการ 3 ข้อ ทำกิจวัตรประจำตามปกติ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น การโทรศัพท์พูดคุยหรือส่งข้อความ
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกด้วยว่า ในการดูแลตนเองนั้น ต้องไม่ให้ความกลัว เหงา ครอบงำจิตใจทำให้เราสูญเสียพลัง ไม่ควรติดตามข่าวสารเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และควรรับส่งข่าวสารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ วางแผนสิ่งที่อยากทำคร่าวๆใน 14 วัน กิจกรรมที่ควรทำในแต่ละวัน จะทำอะไรบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลาย โดยสามารถเรียนรู้การดูแลสุขภาพใจของตนเอง

“ในระยะของการกักตัว 14 วัน สิ่งที่ควรปฏิบัติสม่ำเสมอก็คือ ออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกคลายเครียด ฝึกการหายใจ การฝึกจิตใจให้สงบเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเผชิญปัญหาและมีผลดีต่อการมีภูมิคุ้มกันโรค” นพ.จุมภฏบอกพร้อมกับแนะนำให้มีการประเมินสุขภาพใจตนเองโดยการค้นหาคำว่า Mental health check in ในโทรศัพท์มือถือ อย่างน้อย 1 ครั้งต่ออาทิตย์
...
เพื่อให้การที่ต้องถูกกักตัว จะโดย Home Isolation หรือ Community Isolation เป็นช่วงเวลาที่จะได้ฝึกใจ ปรับพฤติกรรมทางกาย พร้อมฝ่าวิกฤติและเดินต่อไปข้างหน้าได้.