การพัฒนาเทคโนโลยีช่วยอำพรางตัวให้เข้ากับธรรมชาติเพื่อการหลบซ่อนนั้นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับกองทัพ ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกเหนือจากการใช้งานทางทหารแล้ว ลายพรางเทียมหรือลายพรางสังเคราะห์ ยังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากงานสถาปัตยกรรม ศิลปะ แฟชั่น รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก และกิจกรรมกลางแจ้ง

ล่าสุดทีมวิจัยนำโดย ดร.โก ซึง-ฮวาน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลในเกาหลีใต้ เผยว่า การสวมชุดลายพรางป่าในทะเลทรายจะถูกเปิดเผยตัวได้ง่าย ดังนั้น การเปลี่ยนสีและลวดลายตามสภาพแวดล้อมจึงเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีลายพรางที่ทีมสร้างขึ้น โดยพัฒนาวัสดุคล้ายผิวหนังเทียมคล้ายกับกิ้งก่าที่สามารถเปลี่ยนสีของมันให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ผิวหนังเทียมนี้มีความยืดหยุ่นและมีหลายชั้น บางกว่าเส้นผมมนุษย์ สร้างขึ้นด้วยหมึกพิเศษอย่างเทอร์โมโครมิก (thermochromic) ที่เปลี่ยนสีตามอุณหภูมิและควบคุมโดยเครื่องทำความร้อนขนาดเล็กที่ยืดหยุ่นได้

การทดสอบแสดงให้เห็นว่าผิวเทียมพยายามเลียนแบบสีที่เซ็นเซอร์มองเห็นรอบตัว ขณะที่หุ่นยนต์เคลื่อนไป ผิวของมันก็เปลี่ยนไปเกือบจะในทันทีเพื่อให้เข้ากับพื้นหลัง นั่นก็เพราะข้อมูลสีที่เซ็นเซอร์ตรวจพบจะถูกถ่ายโอนไปยังไมโครโปรเซสเซอร์ จากนั้นก็ส่งไปยังเครื่องทำความร้อน เมื่อเครื่องทำความร้อนถึงอุณหภูมิที่กำหนด ชั้นผลึกเหลวเทอร์โมโครมิกจะเปลี่ยนสี และนี่อาจเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับการออกแบบลายพรางเทียมรุ่นต่อไป.

...