ถึงเวลานี้ต้องยอมรับว่า ต่อให้มีมาตรการป้องกันขั้นสูงสุดอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ โควิด-19 ให้หมดไปจากโลกได้

สถานการณ์การระบาดใหญ่ที่เรียกว่า Pandemic จะค่อยๆจางหายไปและโควิด-19 ที่เข้ามาป่วนและเปลี่ยนโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะกลายเป็น Endemic หรือโรคประจำถิ่นแทน

เมื่อเป็นโรคประจำถิ่น นั่นหมายความว่า วันดีคืนดีโรคนี้ก็อาจจะระบาดขึ้นมาอีก เหมือนไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ที่ระบาดกันอยู่แล้วทุกปี

เพียงแค่ความรุนแรงของการระบาดอาจจะน้อยหรือมากแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ละฤดูกาล แต่จะเป็นโรคที่เราสามารถคาดเดาพฤติการณ์ของโรคได้ (predictable) และจัดการได้ (manageable)

เราทุกคนต้องเรียนรู้ และเริ่มต้นปรับตัวเพื่อที่จะต้องอยู่กับโรคโควิด-19 ไปอีกนาน ซึ่งบอกได้เลยว่า การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงคราวนี้จะไม่เหมือนเดิม อีกต่อไป

...

ชีวิตวิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล คือการพลิกโฉมหน้าการใช้ชีวิตครั้งใหม่แบบ re-set โลกกันเลยทีเดียว

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า นับจากวินาทีนี้ ต้องคิดเสมอว่า คนที่อยู่รอบตัวเราทุกคน แม้แต่คนในครอบครัว อาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ และสามารถแพร่เชื้อให้เราได้ด้วย การป้องกันตนเองด้วยมาตรการสูงสุดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะไม่รับเชื้อหรือแพร่เชื้อให้คนอื่น

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ออกมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล หรือที่เรียกว่า Universal Prevention มีหลักปฏิบัติง่ายๆ 10 ข้อ เหมือนบัญญัติ 10 ประการ ประกอบด้วย

1.ออกจากบ้านเมื่อจําเป็นเท่านั้น

2.เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่

3.สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน

4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม ไอจาม หรือสัมผัสวัตถุ/สิ่งของที่ใช้ร่วมกัน

5.หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก ปาก โดยไม่จําเป็น

6.ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จําเป็น (น้อยครั้งและใช้เวลาสั้นที่สุด)

7.ทําความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ

8.แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น

9.เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสํารับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว

10.หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ที่อาจติดเชื้อ หรือมีอาการ ควรได้รับการตรวจด้วย ATK บ่อยๆเพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

“จริงๆแล้วมาตรการทั้ง 10 ข้อ เป็นเรื่องที่เราอาจละเลยหรือหลงลืมกันไป ทั้งๆที่เป็นแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยที่ต้องทำเป็นประจำ และฝึกให้เป็นนิสัยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดหรือไม่ก็ตาม”

...

นพ.สุวรรณชัย บอกพร้อมกับเสริมว่า กรมอนามัยได้ทำแคมเปญ “เปลี่ยนเพื่อ” เป็นการตอกย้ำให้คนไทยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง เปลี่ยนความกลัว (Fear) เพื่ออยู่กับความจริง (Fact) ด้วยการทำ (Action) ตามมาตรการทั้ง 10 ข้อที่ออกมาอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ด้วยความที่คิดว่าคนไทยอาจจะยังไม่ชินกับมาตรการที่ออกมา กรมอนามัยจึงได้ทำการสำรวจผ่านอนามัยโพล ในประเด็น “คิดเห็นอย่างไรกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19)”

โดยแบ่งการสอบถามเป็น 2 กลุ่ม คือ เจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน และอีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม-1 กันยายน 2564

ผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมที่กลุ่มเจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน ส่วนใหญ่ทำได้มากที่สุดคือล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง 89.2% รองลงมาคือแยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น 83.5% ส่วนพฤติกรรมที่ทำได้น้อยที่สุดคืองดกินข้าวร่วมกัน 66.9% สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปพบว่าพฤติกรรมที่ทำได้มากที่สุดคือล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง 83.8% รองลงมาคือ หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง จะตรวจด้วยชุด ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน 76.3% ส่วนพฤติกรรมที่ทำได้น้อยที่สุดคืองดกินข้าวร่วมกัน 51.9%

นพ.สุวรรณชัย บอกว่า คงต้องหาวิธีการรณรงค์แก้ไขปัญหาเรื่องการกินอาหารร่วมกันของคนไทยที่เป็นจุดที่ปฏิบัติตามได้ยากที่สุด เป็นจุดคุมเข้มสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือประชาชน เจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน งดการกินอาหารร่วมกันไปสักระยะหนึ่งก่อน หรือให้เหลื่อมเวลากันในช่วงการกินอาหาร เพราะล่าสุดก็ยังมีรายงานการติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกันอยู่มาก

“อาจจะต้องนำวัฒนธรรมการกินอาหารแบบญี่ปุ่น อย่างเบนโตะ หรือข้าวกล่อง ที่พกจากบ้านมาทานเอง และแยกทานคนเดียว ตรงนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้มาก หรือแม้แต่ในยุโรป หรืออเมริกา ที่ส่วนใหญ่ร้านอาหารจะเลิกบริการอาหารแบบบุฟเฟต์ หรือนั่งรวมโต๊ะ แต่จะขายแบบอาหารจานเดียว ทานคนเดียว เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ” อธิบดีกรมอนามัยบอกและว่า ถ้าอยากเปิดประเทศได้เร็ว ลดการแพร่กระจายของโรคได้เร็ว และกลับมามีชีวิตวิถีใหม่ที่ไม่ต้องกังวล

ช่วงนี้ขอแนะนำให้ห่างกันสักพัก กินข้าวคนเดียว เพื่อจะได้กลับมามีความสุขในการกินข้าวด้วยกันอีกครั้งโดยเร็วที่สุด.

...