เหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์พยายามมองย้อนกลับไปในอดีต ก็เพราะอยากทำความเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะต้องการไขคำตอบว่าโลกตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวงกว้างอย่างไรในอดีต ระบบนิเวศ เคมีในมหาสมุทร ระดับน้ำทะเล รวมถึงป่าไม้ ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าช่วงปลายยุคครีเตเชียสเมื่อ 66 ล้าน-100 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายของไดโนเสาร์ก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยจะพุ่งชนโลกจนทำให้สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่สูญพันธุ์ ระดับคาร์บอนและอุณหภูมิจะสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ แต่หลักฐานข้อมูลภูมิอากาศในอดีตอันไกลโพ้นนั้นมีแค่ฟองอากาศที่ติดอยู่ในแกนน้ำแข็งโบราณ ย้อนกลับไปได้ประมาณ 800,000 ปีเท่านั้น ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยริชาร์ด บาร์เคลย์ นักธรณีวิทยาของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนียน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เผยว่า พบหลักฐานใหม่นั่นคือซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลใบแปะก๊วยอายุเกือบ 100 ล้านปีที่ผนึกอยู่ในหิน ใบไม้นี้น่าจะร่วงจากต้นไม้ในช่วงเวลาเดียวกับไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ และไทรเซอราทอปส์ ย่ำท่องไปในป่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่น่าทึ่งคือพอเห็นปุ๊บก็รู้ว่านี่คือใบแปะก๊วย หมายความว่าพืชชนิดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนักในช่วงหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมา

...

ปีเตอร์ เครน นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล เผยว่า ใบแปะก๊วยเปรียบเสมือนเป็นแคปซูลกาลเวลาที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งรูพรุนในฟอสซิลใบแปะก๊วยอาจบ่งบอกบรรยากาศเมื่อ 100 ล้านปีก่อน และข้อมูลอันมีค่านี้จะช่วยในการทดสอบความถูกต้องของแบบจำลองสภาพภูมิอากาศสำหรับการคาดการณ์อนาคต.