• ช่วงฤดูหนาว โรคระบาดจากไวรัส โดยเฉพาะโควิด-19 ติดต่อกันได้ง่าย และหลายประเทศมีโอกาสเสี่ยงสูง

  • สหรัฐอเมริกาโควิด-19 ช่วงฤดูหนาวระบาดหนัก ทำสถิติ 30 ต.ค. 2563 วันเดียว มีผู้ติดเชื้อ 101,461 ราย

  • ยุโรปเร่งล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวหลายประเทศ คุมเข้มขอให้ผ่านพ้นเวลาเสี่ยงโควิด-19 ช่วงฤดูหนาว

  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของไทยย้ำอย่ากังวล แต่เตือนการ์ดอย่าตก ต้องป้องกันเต็มที่ 100%

ความรู้สึกกับฤดูหนาวที่กำลังมาถึงในปีนี้ ช่างแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้เราเผชิญกับโควิด-19 กันทั่วโลกมาเกือบตลอดปี และยิ่งหน้าหนาวแบบนี้หลายคนยิ่งกังวล เพราะโดยพื้นฐานของเชื้อไวรัสชอบความหนาว อยู่นาน อยู่ทน โดยมีงานวิจัยของต่างประเทศออกมาเป็นระยะที่ระบุว่า ในช่วงนี้โควิด-19 ช่วงฤดูหนาว จะยิ่งแผลงฤทธิ์ และมีโอกาสพบผู้ป่วยมากขึ้น สาเหตุที่ยิ่งหนาวยิ่งแพร่ระบาดกว่าเดิม เพราะโครงสร้างเจ้าไวรัสมีอายุอยู่ได้นานในสภาพอากาศหนาวเย็น และยังมีเรื่องพฤติกรรมของผู้คนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น บางพื้นที่ที่มีอากาศหนาวจัด ผู้คนมักจะหลบเข้าตัวอาคารต่างๆ ซึ่งหมายถึงต้องสัมผัสลูกบิดประตู ที่จับเปิดและปิดประตูของอาคารกันบ่อยขึ้น นี่คือโอกาสที่เชื้อโรคที่ติดอยู่บนพื้นผิวสัมผัส ที่มาจากคนใดคนหนึ่งที่อาจมีเชื้อโควิด-19 จะแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

สาเหตุเสี่ยงรับเชื้อไวรัส โควิด-19 ช่วงฤดูหนาว ได้ง่าย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ในฤดูหนาวมีโอกาสเสี่ยงในการระบาดของโรคได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ทั้งโควิด-19 และโรคอื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่ เหตุผลหลักๆ คือ ธรรมชาติของโรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่ในช่วงอากาศเย็น ถ้าไม่รักษาความอบอุ่นในร่างกายให้ดี จะมีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเพราะอายุของไวรัส ที่ยิ่งอากาศเย็น ยิ่งอยู่ได้นาน จะเห็นได้ว่าเมื่อนำเชื้อจากคนไข้ไปตรวจ ต้องใส่ในภาชนะที่เก็บความเย็น ประมาณ 4-8 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้ไวรัสตายก่อนถึงเวลาตรวจสอบเชื้อ

...


“เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าหน้าหนาวมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น ถามว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ตอบได้ว่าใช่ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องกังวล ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และอย่าตื่นตระหนก เพราะมีวิธีป้องกันตามมาตรการอย่างที่ปฏิบัติมาและขอให้ทำให้ได้อย่าง 100% ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ และหากสัมผัสพื้นผิววัตถุต่างๆ ในที่สาธารณะ โต๊ะ เก้าอี้ ประตู ก็จำไว้เสมอว่าอย่าสัมผัส หน้า ตา จมูก ปาก โอกาสเสี่ยงก็จะลดลง”

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า เชื้อไวรัส ที่อยู่ในฝอยละลองของเสมหะ น้ำลาย ที่ผู้ไอจามออกมา ในสภาวะอากาศเย็นจะลอยได้ไกลขึ้นหรือไม่นั้น นายแพทย์ศุภกิจ อธิบายว่าฝอยละอองน้ำลาย และเสมหะจะลอยไปได้ไกลแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความแรงของการไอ หรือจามของแต่ละคนมากกว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็น อย่างไรก็ตามการเว้นระยะห่างประมาณ 1-2 เมตร ก็ต้องปฏิบัติอยู่ เพื่อปลอดภัยจากฝอยละอองของผู้ที่อาจมีเชื้อโรค

นายแพทย์ศุภกิจย้ำว่า ประเทศไทยเองมีอากาศร้อน แม้จะเข้าสู่ฤดูหนาวก็ยังมีแสงแดด อุณหภูมิก็ไม่ได้ลดต่ำจนเกินไป ดังนั้นความเสี่ยงจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงไม่มาก แต่ความเสี่ยงจะเป็นเรื่องพฤติกรรมของแต่ละคนมากกว่า ดังนั้นการป้องกันอย่าง 100% จึงยังมีความสำคัญที่สุด

สำหรับสภาพอากาศแบบไหนที่โควิด-19 ไม่สามารถอยู่ได้ ประเด็นนี้มีผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัตที่สำรวจในช่วง 4 เดือนแรกของการระบาด ก่อนที่หลายประเทศจะเริ่มมาตรการคุ้มเข้ม พบว่าโควิด-19 มีการะบาดสูงแพร่ะกระจายอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีแสงแดดน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่ร้อน และแดดแรง

สถานการณ์ล่าสุดของการระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 กรมควบคุมโรครายงานไว้ว่า มียอดติดเชื้อสะสม 3,775 คน รักษาหาย 3,570 คน รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 146 คน และเสียชีวิต 59 ศพ สำหรับสถิติเกี่ยวกับผู้ป่วยนั้น อายุน้อยสุดคือ 1 เดือน อายุมากที่สุด 97 ปี อายุเฉลี่ย 37 ปี

หลายประเทศในยุโรป ล็อกดาวน์ ป้องกัน โควิด-19 ช่วงฤดูหนาว

หลายประเทศทั่วโลกยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย โดยขณะนี้ในยุโรปเริ่มมีมาตรการคุมเข้มมากขึ้น โดยเพิ่มการล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่าที่ เยอรมนี สั่งให้ปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง และกิจกรรมในที่สาธารณะในบางพื้นที่เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ในเดือนพฤศจิกายน โดยที่ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี ได้แถลงไว้ว่า ช่วงเดือนที่ยาวนานนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่โควิด-19 จะสิ้นสุดลง

...

ที่ฝรั่งเศส โดยประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ก็คุมเข้ม โดยอนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านได้ต่อเมื่อไปทำงานสำคัญ หรือไปหาหมอ ปิดร้านอาหาร และสถานบันเทิง ที่สเปนเองก็มีการประกาศเคอร์ฟิวเวลา 23.00 น. จนถึง 06.00 น. และห้ามรวมตัวกันเกิน 6 คน ที่อิตาลี ที่วิกฤติหนักมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้เพิ่มมาตรการคุมเข้ม โดยสั่งให้ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ปิดเวลา 6 โมงเย็น ปิดโรงหนัง สถานที่ออกกำลังกาย และประกาศเคอร์ฟิวหลายพื้นที่

ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงวิกฤติหนัก  ท่ามกลางอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส ความหนาวแผ่ไปทั่วประเทศ ผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกันในบางจุดในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ จนล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐฯ ออกมารายงานเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 24 ชั่วโมงสูงถึง 101,461 ราย ทำสถิติสูงสุดในการระบาดแต่ละวันนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศอยู่ที่ 9.3 ล้านราย เสียชีวิต 235,159 ศพ โดยรัฐเทกซัส แคลิฟอร์เนีย และฟลอริดา เป็น 3 รัฐที่มีการระบาดสูงสุด

นี่คือวิกฤติที่ผ่านไปแล้วกว่า 10 เดือน ที่ยังมีผู้คนป่วยเพราะโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน นับตั้งแต่ฤดูหนาวครั้งที่แล้ว จนความหนาวเย็นกำลังมาเยือนรอบใหม่ จนถึงปลายเดือนตุลาคม 2563 มียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 43 ล้านคนทั่วโลก เสียชีวิตกว่า 1.15 ล้านศพ และยังไม่มีใครบอกได้ว่า โควิด-19 จะสิ้นสุดลงตอนไหน.