น้ำหนักทองคำ” ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณ ก็จะต้องมีน้ำหนักตามเกณฑ์ของสมาคมค้าทองคำ เพราะเป็นมาตรฐานการซื้อขาย ไม่ว่าจะซื้อที่ร้านใด จังหวัดใดก็ตาม จะต้องมีน้ำหนักที่ตรงกัน โดยการชั่งน้ำหนักทองจะต้องใช้เครื่องชั่งที่เห็นทศนิยม 2 ตำแหน่ง และควรเป็นเครื่องชั่งดิจิทัล เพื่อจะได้เห็นน้ำหนักที่ชัดเจน

(ทองคำในบทความนี้ กล่าวถึงทองคำ 96.5%)

น้ำหนักทองมีกี่ขนาด

แม้จะมีคำเรียกน้ำหนักทองอยู่หลายแบบ แต่เพื่อความเข้าใจที่ง่าย สามารถแบ่งน้ำหนักทองเป็น 2 ขนาด คือ บาท กับ สลึง

น้ำหนักทอง 1 บาท แบ่งออกได้ 4 สลึง

ดังนั้นการซื้อขายทองคำที่เป็น “สลึง” จะเป็นหน่วยย่อยของ “บาท” เสมอ โดยการเทียบบัญญัติไตรยางศ์

น้ำหนักทอง 1 บาท ทองแท่ง 15.244 ทองรูปพรรณ 15.16 กรัม

น้ำหนักทองแท่ง เมื่อเรียกเป็นบาท 1 บาท จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 15.244 กรัม และทองรูปพรรณ น้ำหนัก 15.16 กรัม เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการซื้อทอง 2 บาท เป็นต้นไป ก็เอาจำนวนบาทมาคูณ 

...

แต่หากซื้อน้ำหนักทองครึ่งหนึ่งของ “บาท” โดยทั่วไปจะไม่เรียกว่า “ครึ่งบาท” แต่เรียกว่า “2 สลึง” โดยจำหน่ายเป็น จี้ สร้อย ต่างหู เป็นต้น เพราะฉะนั้นน้ำหนักทอง 2 สลึง ของทองแท่งจึงเท่ากับ 7.622 กรัม และทองรูปพรรณเท่ากับ 7.58 กรัม

น้ำหนักทอง 1 สลึง มีน้ำหนักกี่กรัม

เนื่องจากหน่วยชั่งตวงวัดของไทย แบ่งน้ำหนัก 1 บาท ออกเป็น 4 สลึง ดังนั้น น้ำหนักทอง 1 สลึง คิดจากน้ำหนักทอง 1 บาท นำมาหารด้วย 4 

  • ทองแท่ง 1 สลึง จะต้องมีน้ำหนัก 3.811 กรัม
  • ทองรูปพรรณ 1 สลึง จะต้องมีน้ำหนัก 3.79 กรัม

และเนื่องจากปัจจุบันมีการค้าขาย จี้ ต่างหู หรือ แหวน ขนาดครึ่งสลึงด้วย เพราะฉะนั้นวิธีคิดน้ำหนักทองครึ่งสลึง ก็ต้องนำน้ำหนักทองสลึงมาหารด้วย 2

คำถามที่พบบ่อย น้ำหนักทอง 0.6 กรัม เป็นกี่สลึง กี่บาท

ปัจจุบันมีการทำแหวน แผ่นการ์ดอวยพร หรือสินค้าทองคำที่มีขนาด 0.6 กรัม จึงจัดอยู่ในกลุ่มทองรูปพรรณ เมื่อเทียบตามน้ำหนักชั่งตวงวัดของไทย จะน้อยกว่าน้ำหนักทองครึ่งสลึง (1.895) เสียอีก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 ของทองครึ่งสลึง จึงยากที่จะเรียกว่าเป็นทองกี่บาท กี่สลึง ผู้ซื้อผู้ขายจึงนิยมเรียกทอง 0.6 กรัมตามหน่วยกรัม

เลือกซื้อทองแบบไหนดี

จุดประสงค์การเลือกซื้อทองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนซื้อไว้เก็บเก็งกำไร บางคนซื้อไว้สวมใส่ แต่ทุกจุดประสงค์ต้องดูน้ำหนักทองให้เต็ม สมราคา

ซื้อทองไว้เก็บ : ซื้อทองแท่ง เพราะเมื่อขายจะไม่ถูกหักค่ากำเหน็จ  
ซื้อทองไว้ใส่ : ซื้อทองรูปพรรณที่ข้อต่อต่างๆ แข็งแรง

น้ำหนักทองแท่งกับน้ำหนักทองรูปพรรณนั้นไม่เท่ากัน แตกต่างกันทั้งน้ำหนักทองและค่ากำเหน็จ เพราะเกิดจากค่าแรงที่เรียกว่า “ค่ากำเหน็จ” ทองรูปพรรณจะต้องใช้ทักษะฝีมือช่างที่ละเอียดอ่อน ในการสลักลวดลายเพื่อสวมใส่ ดังนั้นเวลาซื้อขายทอง ทุกร้านจะยึดราคาทองคำกลางตามราคาสมาคม เพราะเป็นมาตรฐานที่วัดได้ว่าเนื้อทองคำมีราคาอยู่ที่เท่าไร

สุดท้ายนี้ ทุกครั้งที่ซื้อทองต้องมองตาชั่ง เพราะทองคำที่ดูก้อนใหญ่ อาจจะไม่ได้มีน้ำหนักถึงปริมาณที่เราตกลงซื้อขายก็ได้ หากน้ำหนักไม่ถึง ก็ไม่ควรซื้อมา เพราะเรียกว่าเป็นทองที่น้ำหนักไม่เต็ม ซึ่งไปเข้ากับสำนวนที่ใช้กันว่า “ไม่เต็มบาท” นั่นเอง