ขณะที่ทั่วโลกมีความหวังกับการรอคอยวัคซีนเพื่อเอาชนะ COVID-19 ซึ่งกำลังมีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก

ล่าสุด เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA ได้ออกประกาศอนุญาตใช้งานกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) สำหรับการนำพลาสมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฟื้นตัวแล้ว มารักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุสาเหตุการพิจารณาอนุญาตว่าคำนึงถึงประโยชน์จากการนำพลาสมาดังกล่าวมาใช้ มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ทำให้มีการพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า “คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา” (Convalescent Plasma) หรือพลาสมาจากเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันกันอย่างแพร่หลาย

จริงๆแล้ว คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาติแรกที่ทดลองและพัฒนาการใช้ convalescent plasma หรือน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันและอิมมูนโกลบูลิน (immuneglobulin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านโปรตีน บนผิวของเซลไวรัส โดยจีนใช้วิธีการจัดเก็บพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายดีแล้วบางราย ไปใช้รักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤติจำนวนหนึ่ง และพบว่าได้ผลดี โดยหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวผ่านไป 12-24 ชม. มีอาการดีขึ้น

...

หลักการง่ายๆที่ทำให้ คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา เป็นอีกหนึ่งความหวังของการรักษา COVID-19 ก็คือ ร่างกายผู้ป่วยที่รักษาตัวจนหายส่วนใหญ่จะผลิตโปรตีนภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี (Antibody) ต้านไวรัสออกมา โดยพลาสมาที่ถูกนำมาใช้งาน จะเป็นพลาสมาจากเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน ที่เรียกว่า Convalescent Plasma นั่นเอง

ไม่เฉพาะจีนเท่านั้นที่เห็นประโยชน์ของ คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา ในเยอรมนี Department of Transfusion Medicine และ Haemostaseology แห่ง มหาวิทยาลัยเออแลงเกน ซึ่งเป็นหนึ่งในคลินิกแห่งแรกของเยอรมนี ที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในการผลิตพลาสมาบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ป่วยหนัก โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการทดลองใช้คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา ชี้ให้เห็นว่าพลาสมาภูมิคุ้มกันโควิด-19 สามารถบรรเทาการลุกลามของโรคที่คุกคามถึงชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลประกาศเปิดทางให้มีการนำ คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แถลงยืนยันว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้แล้ว โดยพลาสมาเหล่านี้คือน้ำเลือดที่บริจาคโดยผู้ที่ได้รับการรักษาโรคโควิด-19 จนหายดีแล้ว

ทรัมป์ บอกว่า นี่เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมาก และรัฐบาลพร้อมที่จะกระจายพลาสมาเหล่านี้ออกไปเพื่อให้ชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ขณะที่ FDA ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐฯ มากกว่า 70,000 คน ที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมาดังกล่าว ภายใต้โครงการวิจัยทางคลินิก

นพ.ปีเตอร์ มาร์คส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินด้านชีวภาพของ FDA กล่าวว่า มติดังกล่าว คือการอนุมัติอย่างเป็นทางการ หลังวิเคราะห์การรักษาผู้ป่วย ประมาณ 20,000 คน ซึ่งเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวพบว่าได้ผลดี และไม่มีผลข้างเคียง แต่ย้ำว่าการอนุมัติของเอฟดีเอไม่ได้หมายความว่าการใช้พลาสมา คือ มาตรฐานใหม่ ของการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

...

ทั้งนี้ การทดลองในหลายๆประเทศพบว่า การใช้พลาสมาในการรักษาได้ผลค่อนข้างดี อาการของผู้ป่วยดีขึ้นในระยะ 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับพลาสมา ผู้ป่วยในห้อง ICU หลายคนหายใจได้เองโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจ ทำให้แพทย์มีทางเลือกมากขึ้น เพราะการรอคอยวัคซีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการแข่งกับเวลาและการระบาดที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันความพยายามเอาชนะโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ขณะที่ยังไม่มีวัคซีน มีทั้งการใช้ยาที่มีฤทธิ์เพื่อจำกัดการแทรกตัวของโคโรนาไวรัสเข้าไปในเซลล์หรือทำให้ไม่เกิดการขยายตัวของโคโรนาไวรัสในร่างกายในช่วงแรกที่ได้รับ เชื้อ เช่น ยา hydroxychloroquine ที่เดิมใช้กับเชื้อมาลาเรีย เช่นเดียวกับยา remdesivir ซึ่งเคยใช้กับไวรัส Ebola มาก่อน การใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงจากเชื้อไวรัส รวมทั้งบรรเทาปฏิกิริยาซึ่งเป็นผลจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อต่อต้านเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะอักเสบอย่างรุนแรงในร่างกาย และส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญบางอย่าง เช่น ปอด และคุกคามต่อชีวิตผู้ป่วยได้ โดยตัวอย่างของยากลุ่มนี้คือยา Kevzara ที่ใช้รักษาไขข้ออักเสบ ซึ่งยาทั้งสองประเภทนี้อาจมีผลข้างเคียงในทางลบต่อสุขภาพของคนไข้ ซึ่งแพทย์กำลังพยายามศึกษาหาคำตอบอยู่

...

และสุดท้าย คือ การช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของคนป่วยที่รับเชื้อให้สามารถสู้กับไวรัสได้ โดยอาศัยแอนติบอดีจากพลาสมาในเลือดของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว หรือที่เรียกว่า convalescent plasma therapy โดยวิธีดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัด คือ อาจจะไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระยะท้ายๆ

ขณะนี้มีการทดลองยาเพื่อรักษาโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ราว 70 ชนิด เพื่อเร่งหาคำตอบว่ายาชนิดใดที่อาจให้ความหวังได้มากที่สุด ก่อนที่จะมีข่าวดีเรื่องวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส.

...