ในช่วงที่ไวรัสมหาภัยโควิด-19 อาละวาดทั่วโลกจนผู้ติดเชื้อผ่านหลักล้านไปแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตก็เกิน 50,000 รายไปแล้ว จนเป็นผลให้เศรษฐกิจโลกทรุดลงอย่างน่าตกใจ เพราะมีการหยุดงาน มีการปิดบริษัท ปิดเมืองไปจนถึงปิดประเทศหลายแห่งหลายที่

แต่กลับมีบริษัทหนึ่งโผล่พรรคออกมาเป็น “ดาวรุ่ง” หุ้นขึ้นอย่างมหาศาล ร่ำรวยมหาศาล จนเป็นที่กล่าวถึงไปทั่วทุกหนแห่ง ณ บัดนาวนี้

นั่นก็คือ บริษัท Zoom Video Communi cations แห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของแอปพลิเคชัน วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หรือการจัดประชุมทางไกลผ่านแอปนี้ โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากันนั่นเอง

ในห้วงเวลาที่ทุกคนต้องอยู่กับบ้าน ต้อง Social Distancing แต่การประชุม และการทำงานแบบเป็นทีมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ยังมีอยู่ ถ้าไม่ใช้ระบบ Video Conference ประชุมจากบ้านใครบ้านมันละก็จะใช้วิธีไหนได้ล่ะ

นับตั้งแต่เกิดภาวะโรคระบาดโควิด-19 เมื่อปลายปี 2019 และเริ่มหนักหน่วงมากขึ้นในต้นปี 2020 จนถึงบัดนี้ มีรายงานข่าวว่ามีผู้เข้าใช้ ZOOM ถึงกว่า 40 ล้านคน โดยสถาบัน องค์กร บริษัท ห้างร้าน และรัฐบาลด้วย รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 2,000 สถาบันหรือองค์กร

ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นมโหฬารนี้เองหุ้นของบริษัท Zoom Communications จึงพุ่งปรี๊ดสวนทางกับหุ้นอื่นๆที่ตกระเนนระนาดมีรายงานว่า มูลค่าการตลาดของ ZOOM กำลังพุ่งขึ้นไปถึง 36,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท คิดกันง่ายๆด้วยการคูณเหรียญละ 30 บาทถ้วนๆ

พร้อมกับมีข่าวด้วยว่าคุณอีริค หยวน (Eric Yuan) ผู้ก่อตั้งแอปนี้กลายเป็นมหาเศรษฐีคนใหม่ของโลก มีเงินถึงเกือบ 7,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท อยู่ในกำมือ

ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า อีริค หยวน คนนี้เป็นไผ? และมาจากหนใด?

...

คำตอบก็คือ ชายหนุ่มอายุย่าง 50 ปีรายนี้เป็นชาวจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) โดยถือกำเนิดเกิดที่เมืองไท้-อัน มณฑล ชานตง เป็นลูกของวิศวกรเหมืองแร่

เขามีชื่อจีนว่า หยวน เจิ้ง ซึ่งกลายมาเป็น อีริค หยวน ณ ปัจจุบัน

หนุ่ม หยวน เจิ้ง จบปริญญาตรีและโททางด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์จาก มหา-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชานตง และติดต่อขอไปทำงานที่สหรัฐฯ โดยยื่นเรื่องราวถึง 9 ครั้ง ปรากฏว่า สำเร็จในครั้งที่ 9 จึงเดินทางไปอเมริกา เมื่อประมาณ พ.ศ.2538-2539 เข้าร่วมงานกับ Webex บริษัทวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ น้องใหม่ใน พ.ศ.ดังกล่าว ไต่เต้ามาจนถึงได้ตำแหน่งรองประธานฝ่ายวิศวกรรม

ต่อมา Webex ขายกิจการให้ Cisco และเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้นมาก เขาเองแม้จะใหญ่ขึ้นด้วยและมีรายได้มหาศาลเพิ่มขึ้นเป็นเงา ตามตัว แต่ค่อนข้างอึดอัดกับการบริหาร ซึ่งมักจะมีขั้นตอนมากมายตามแบบฉบับของบริษัทใหญ่ทั้งหลาย

อีริค หยวน ยื่นใบลาออก เมื่อปี 2011 หรือ พ.ศ.2554 มาตั้งบริษัท วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เล็กๆ ของเขาเอง นั่นก็คือ บริษัท Zoom Communications นี่แหละครับ เตาะแตะเป็นบริษัทเล็กๆ ทำมาหาเลี้ยงตัวได้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

กระทั่งถึงยุคโควิด-19 อาละวาดนี่แหละ Zoom ของเฮียหยวนก็โด่งดังทะลุฟ้า ทำให้เขาร่ำรวยเป็นอภิมหาเศรษฐีไปในชั่วไม่กี่เดือนดังกล่าว

กระนั้น ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เพราะเมื่อใช้กันมากขึ้น ก็มีปัญหาเพิ่มขึ้น และเริ่มมีแขกผู้ไม่ประสงค์จะออกนามที่เรียกว่า “แฮกเกอร์” เข้ามาอาละวาดมากขึ้น

เช่น จู่ๆกำลังประชุมกันอยู่ดีๆ ก็มี “ภาพเปลือย” แทรกเข้ามา หรือไม่ก็เสียงตะโกนแซวแปลกๆ ฯลฯ จนเกิดคำถามว่า Zoom ปลอดภัยจริงหรือไม่

รักษาความลับได้ดีเพียงไร? ข้อมูลรายละเอียดของบริษัทเราที่ประชุมกันรั่วไหลหรือไม่?

ได้ยินว่าคุณหยวนขอโทษและออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะปรับปรุงระบบให้ดีต่อไป...

เอาล่ะ รู้จัก Zoom ฝรั่งไปแล้ว (ความจริงเป็น Zoom จีน แต่เมื่อบริษัทไปอยู่อเมริกาก็เรียกง่ายๆว่า “ฝรั่ง” ไปก่อน) ทีนี้ก็มารู้จัก “ซูม” ไทยแลนด์ หรือ “ซูม–ไทยรัฐ” กันบ้าง

ก็เขินล่ะน่ะที่เขียนถึงตัวเอง แต่จะไม่เขียนก็ไม่ได้ เพราะใช้คำว่า “ซูม” ที่มาจาก Zoom ด้วยเหมือนกัน ใช้มาตั้งแต่ 1970 หรือ 2513 ก่อนคุณหยวนที่เพิ่งใช้เมื่อ 2011 หรือ 2554 ถึง 41 ปี แต่ก็ยังไม่รวยกะเขาเสียที

โชคดีที่ “ซูม” ไทยแลนด์ ถูกฝึกมาให้เป็นคนพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ยึดมั่นในหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเคยทำงานพัฒนาชนบทตามรอยพระยุคลบาทในหลวง ร.9 มาเป็นเวลานาน จึงมีความสุขตามสมควรแก่อัตตาภาพ

นามปากกา “ซูม” ในภาษาไทยมาจากคำว่า “ZOOM” ในภาษาอังกฤษ พี่มานะแพร่พันธุ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตั้งให้หัวหน้าทีมซอกแซกเมื่อ พ.ศ.2513 ย่างเข้า 50 ปีพอดิบพอดีในปีนี้ ก่อนจะมาเขียนใน ไทยรัฐ ปี 2515 ก็ 48 ปีเข้าไปแล้ว

และอาจจะคุยแทนพี่ มานะ แพร่พันธุ์ ได้เลย ว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย (ไม่ทราบจะครั้งแรกในโลกหรือเปล่า) ที่นำคำว่า Zoom มาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว (คือตั้งนามปากกา)

ก่อนจะมีร้านตัดเสื้อตัดกางเกงยี่ห้อ “ซูม” 2-3 ร้านใน กทม. และร้านถ่ายรูป “ซูม” สัก 30-40 ร้านได้มั้งทั่วราชอาณาจักรสยาม (จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของตัวเอง)

ระดับโลก มีการเอาคำว่า Zoom ไปเป็นชื่อหนังแล้ว 4 เรื่อง ครั้งแรกน่าจะฮอลลีวูดปี 2006 (ทีหลังซูมไทยแลนด์เยอะ) หลังสุดเป็นหนังศรีลังกาปี 2016

...

ดนตรีและวงนักร้อง มีกลุ่มนักดนตรีใช้นามนี้ที่เดนมาร์ก ไม่บอก ค.ศ. และมีอัลบั้มเพลง Zoom ปี 1998 (ก็หลังเราอีกแหละ) รวมแล้วกว่า 10 อัลบั้ม ล่าสุด เป็นเพลงของ ทาทา ยัง

ทีวี ก็มีซีรีส์และโชว์ใช้ Zoom จารึกไว้ประมาณ 6-7 ประเทศ รายการแรกปี 1972 (ก็หลังเราอยู่ดี) มีซีรีส์สอนภาษาอังกฤษในทีวีอเมริกาชื่อ Zoom

ยังมีการ์ตูน มีเกมคอมพิวเตอร์ มีอะไรอีกเยอะมาก รวมทั้งเป็นชื่อบริษัทอีกนับไม่ไหว และล่าสุดก็คือบริษัทรวยมาก Zoom Video communications ของเสี่ย “อีริค หยวน” นั่นเอง...

เฮ้อ! จอบอ จบได้เสียทีครับ.

“ซูม”