ขณะที่มวลหมอกควันพิษพีเอ็ม 2.5 หวนกลับมา และยังฟุ้งกระจายไปทั่วในหลายจังหวัดของไทย วังวนที่ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการ “แข็งขัน” กับต้นตอของปัญหาที่แท้จริงได้เมื่อไหร่ นอกจากแก้แต่จุดรายเล็กรายย่อย ซึ่งหากเป็นแบบเช่นนี้ ปีหน้าก็เชื่อได้ว่ามหันตภัยฝุ่นจิ๋วก็จะไม่จางหายไปจากเรา ซึ่งต้องช่วยเหลือตัวเองเหมือนเดิม เพราะรัฐบาลบอกเองแล้วว่า ซื้อให้ไม่ไหว จนหน้ากากอนามัยกลายเป็น rare items !!! ปล่อยให้ประเทศติดอันดับท็อปเทนของโลกไป

มองข้ามไปที่ อินเดีย ซึ่งเมื่อปีที่แล้วในกรุงนิวเดลีก็เคยประสบปัญหาเลวร้ายนี้เหมือนๆกันกับเรา จนทางการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพราะค่าฝุ่นพุ่งสูงเกินมาตรฐานเกือบ 400 เท่า อ่านค่าคุณภาพอากาศวัดได้สูงสุด 999 สายการบินต้องเปลี่ยนเส้นทางกว่า 30 เที่ยว ฝุ่นควันหนาจน IQ AirVisual เครื่องวัดคุณภาพอากาศอัจฉริยะอันดับ 1 ของโลกตั้งให้เป็น “airpocalypse” ความเสียหาย หรือการทำลายล้างระดับหายนะทางอากาศ

ทางการอินเดียก็รีบสะดุ้ง หลังประชาชนออกมาประท้วงกระตุกให้ทำงาน โดยกำหนดวันอนุญาตให้รถยนต์ที่ติดป้ายทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ เลขคี่วิ่งสลับกัน หากใครฝ่าฝืนปรับ 4,000 รูปี หรือเกือบ 1,700 บาท แล้วยังปิดการเรียนการสอน งดก่อสร้าง แจกหน้ากาก 5 ล้านชิ้น

...

นั่นคือการหาทางออกของภาครัฐ ส่วนภาคเอกชน ทั้งวิศวกร บริษัท ห้างร้าน ต่างก็ช่วยกันคิด ช่วยกันประดิษฐ์ให้ชาวอินเดียด้วยกันเองหายใจเข้า-ออกรับอากาศบริสุทธิ์เข้าปอด

1.บาร์ออกซิเจน

ชาวกรุงนิวเดลีที่อยากสูดอากาศบริสุทธิ์สามารถตรงดิ่งไปที่ร้าน Oxy Pure ที่คิดค่าอากาศที่อุดมไปด้วยออกซิเจน 15 นาทีในราคาราว 7 เหรียญสหรัฐฯ หรือราว 218 บาท มีให้เลือก 7 กลิ่น ตั้งแต่กลิ่นลาเวนเดอร์ ตะไคร้ ซินนามอนและสเปียร์มินต์ แต่ก็มีบริษัท โกลด์แมน ซัคช์และเว็บไซต์ข่าว IndiaSpend ปล่อยข้อมูลงานวิจัยว่า ราคาให้บริการขนาดนี้ดูแล้วแพงไปนิดสำหรับประเทศที่เฉลี่ยคนใช้จ่ายวันละ 1.80 เหรียญ หรือ 56 บาท

2.กระป๋องอากาศ

เวลาที่มลภาวะทางอากาศขึ้นไปถึงระดับ “อันตราย” เพื่อความอยู่รอดที่ต้องหายใจ ชาว อินเดียก็สามารถสั่งซื้อกระป๋องอากาศได้ทางออนไลน์ ซึ่งมีหลายบริษัท อย่าง Vitality Air ของแคนาดา กับ Pure Himalayan Air แบรนด์ของอินเดียเอง ขายกระป๋องบรรจุ 10 ลิตร ราคาระหว่าง 550-5,400 รูปี หรือ 239-2,300 บาท มีคนคิดค่าเฉลี่ยผู้ใหญ่สูดเข้า-ออกนาทีละราว 8 ลิตร

3. เครื่องกรองอากาศติดตัว

สำหรับคนที่ไม่อยากอุดอู้อยู่แต่ในบ้านหรือที่พัก ก็สรรหา Air Tamer มาไว้ติดตัวไปไหนมาไหน ด้วยขนาดน้ำหนัก 50 กรัม สามารถใส่เป็นสร้อยคอซึ่งจะปล่อยปะจุไอออนเป็นลบช่วยผลักอากาศหรือฝุ่นพิษให้ออกไปไกลๆจากตัวเรา แต่ราคาชวนหวั่นไหวหน่อยเกือบ 10,000 รูปี หรือราว 4,300 บาท จะคุ้มไม่คุ้มกับชาวกรุงที่บรรดาหมอๆบอกว่า อากาศเลวร้ายเท่ากับสูบบุหรี่มากถึง 20 มวนต่อวัน

...

4.ปืนต้านควันพิษ

มีลักษณะคล้ายเครื่องเป่าผมแต่ไซส์ใหญ่กว่ามาก ติดอยู่บนรถบรรทุกที่จะพ่นละอองน้ำเล็กๆ ช่วยไล่อากาศเป็นพิษ ปืนใหญ่นี้สามารถปล่อยฝอยน้ำได้มากถึง 10 ลิตรต่อนาที และช่วยขจัดฝุ่นจิ๋วได้ดีถึง 95%

5.ฝนเทียม

เป็นผลงานที่พัฒนาขึ้นโดย สถาบันเทคโนโลยีอินเดียน (IIT) แต่ยังไม่เริ่มดำเนินการเพราะไม่มีเครื่องบิน หรือการส่งเสริมทางเทคนิคที่ใช้สำหรับปล่อยเมล็ดพันธุ์ที่จะช่วยผลิตก้อนเมฆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคตต่อไป

6.เครื่องกรองอากาศตามท้องถนน

ขนาดยักษ์หลายสิบตัวที่ติดตั้งตามสี่แยกที่รถติดมากๆ หลังจากที่ศาลสูงสั่งไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิฯปีที่แล้ว ให้เหมือนจีนที่สามารถยับยั้งจนกลายเป็นประเทศนักดูดควันพิษตัวยง นานาประเทศชื่นชมในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยประชาชนไว้ข้างหลัง

7.น้ำหมึกจากอากาศเป็นพิษ

ใครว่ามีแต่ “ปั้นน้ำเป็นตัว” สมัยนี้ที่ฝุ่นจิ๋วกำลังจะกลายเป็น “New Normal” หรือความปกติแบบใหม่ สำหรับหลายๆประเทศก็กำลังเป็น “กอบลมเป็นตัว” ด้วยนวัตกรรม Chakr Innovation ที่ริเริ่มขึ้นโดยวิศวกรจากเจ้าเดิม คือ สถาบัน IIT ควบกลั่นกลุ่มควันจากเตาปฏิกรณ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยไอเสียออกมาแล้วผันให้กลายเป็นน้ำหมึกหรือสีวาด ซึ่งเทคโนโลยีตัวนี้สามารถกอบลมพิษที่ได้ 90% และถูกนำออกไปใช้อย่างแพร่หลายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ความเป็นอยู่ของมนุษย์ต้องมาสู้รบกับสงครามฝุ่น ซึ่งไม่ใช่ “ภัยธรรมชาติ” แต่เป็น “ภัยฝีมือมนุษย์” ด้วยกันเองล้วนๆ...

@เจ๊หม่า