รายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร
ผลกระทบของไกลโฟเซตต่อการเจริญเติบโตของทารก ไกลโฟเซตสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนได้ มีการตรวจพบการตกค้างของไกลโฟเซตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่างร้อยละ 49-54 และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า และพบว่าการทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับสารไกลโฟเซตในหญิงตั้งครรภ์ (Kongtip et al., 2017) นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาของ Ramazzini Institute (Manservisi et al., 2019) ในปี ค.ศ.2019
พบว่าการได้รับสารกำจัดศัตรูพืชในขนาดที่คนได้รับจะทำให้สัตว์ทดลองที่ได้รับเมื่อแม่ตั้งครรภ์ และเติบโตขึ้นจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย Pham และคณะ (2019) พบว่าหนู mice ที่ได้สารฆ่าหญ้าจะมีผลทำให้การสร้างสเปิร์มลดลง
การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและพืชผัก มีรายงานการตรวจพบไกลโฟเซตตกค้างและปนเปื้อนในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและอาหาร รวมถึงอาหารแปรรูปทั้งในและต่างประเทศ

...
การตกค้างในดิน ไกลโฟเซตและสารที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของไกลโฟเซต คือ Aminomethyl phosphonic acid (AMPA) สามารถพบได้ในน้ำ ดิน และพืช ไกลโฟเซตสามารถถูกจับ (Adsorption)กับดินที่มีอินทรียวัตถุ และจะถูกย่อยสลายโดยจุลชีพในดินและถูกสะสม (Bank et al., 2014; Cassigneul et al., 2016; Okada et al., 2016; Sidoli et al., 2016; Simonson et al., 2008; Siridov et al., 2015; Travaglia et al., 2015) ดังนั้น ไกลโฟเซตและ AMPA อาจจะตกค้างในดินมากกว่า 1 ปี ในดินเหนียวซึ่งมีสารอินทรียวัตถุมาก และจะถูกชะล้างได้เร็วในดินทราย (Bergstrom et al., 2011; Okada et al., 2016; Sidoli et al., 2016)
การย่อยสลายไกลโฟเซตยังขึ้นอยู่กับความเป็นกรด-ด่างของดิน (Zang et al., 2015) การตกค้างของสารไกลโฟเซตในประเทศไทยนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจพบที่จังหวัดน่าน โดยพบในดิน 145.04-3,311.69 ไมโครกรัม/กก. และตะกอนดิน 132.65-3,913.86 ไมโครกรัม/กก.
การตกค้างในน้ำ ในอดีตนักวิชาการไม่ได้คิดว่าไกลโฟเซตจะเป็นปัญหาสำหรับน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน เพราะไกลโฟเซตมีศักยภาพในการเคลื่อนที่ค่อนข้างน้อยผ่านชั้นดิน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยใหม่ๆพบว่า แม้สารนี้จะถูกดูดซึมในดินที่มีอินทรียวัตถุมาก ไกลโฟเซตและ AMPA บางส่วนที่ละลายได้ผ่านเข้าไปในชั้นน้ำใต้ดินหลังจากมีฝนตกหนัก (Maqueda et al., 2017; Rendon-von Osten and Dzul-Caamal, 2017) ฝนและการชะล้างหน้าดินจะทำให้อนุภาคเล็กๆของดินซึ่งมีไกลโฟเซตและ AMPA เกาะอยู่ ปนเปื้อนในน้ำผิวดิน
ซึ่งอาจจะทำให้อยู่ในลักษณะเป็นอนุภาคเล็กๆ หรือละลายน้ำได้ (Maqueda et al., 2017; Rendonvon Osten and Dzul-Caamal, 2017; Wang et al., 2016; Yang et al., 2015) ไกลโฟเซตและ AMPA ที่ละลายในผิวน้ำจะถูกดูดซับกับตะกอนดิน การย่อยสลายในตะกอนดินของสารทั้งสองจะช้ามากกว่าการย่อยสลายในดิน การตรวจพบไกลโฟเซตและ AMPA ทั้งในน้ำใต้ดินและผิวดินพบในหลายประเทศ ทั้งทวีปอเมริกาเหนือและใต้ รวมทั้งยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สเปน ฮังการี เดนมาร์ก และฝรั่งเศส เป็นต้น ปริมาณสูงสุดที่พบในต่างประเทศคือ 430 μg/L หลังพายุฝน (Van Bruggen et al., 2018)

ในขณะที่การตกค้างของไกลโฟเซตในแหล่งน้ำของไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตรวจพบที่แม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน ได้มีการพบในน้ำประปาหมู่บ้านในทุกตัวอย่าง 21 ตัวอย่าง ในช่วง 3.09-54.12 ไมโครกรัม/ลิตร (พวงรัตน์ และคณะ, 2555)
การตกค้างในพืชและสัตว์ รายงานวิจัยจากต่างประเทศได้รายงานการพบไกลโฟเซตและ AMPA จะพบในพืชตั้งแต่ 0.1-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในพืชตระกูลถั่วรวมทั้งถั่วเหลือง ในธัญพืชรวมทั้งข้าว 0.1 28 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม Maximum Residue Limit (MRL) ของไกลโฟเซตและ AMPA ต่างกันแล้วแต่ชนิดผลิตภัณฑ์ เช่น 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในน้ำนม และ 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์จากพืช โดยไกลโฟเซตและ AMPA ที่ตกค้างในน้ำและผลิตภัณฑ์จากพืชจะเข้าสู่คนและสัตว์ และถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระ (Nieman et al.,2015; Soosten et al., 2016) ซึ่งจะพบทั้งในคนและสัตว์
การตกค้างของไกลโฟเซตในพืชและสัตว์ได้ถูกรายงานไว้โดยไกลโฟเซตพบในพืชผักท้องถิ่นจังหวัดน่าน มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน Codex จำนวน 17 ตัวอย่าง จาก 45 ตัวอย่าง (พวงรัตน์ และคณะ, 2555) และจากรายงานของ Thai PAN ตรวจพบในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 6 ตัวอย่าง จาก 76 ตัวอย่าง ผักผลไม้ในตลาดโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ การตรวจพบในสัตว์ ได้มีการรายงานการตรวจพบไกลโฟเซตในกบหนอง ปูนา ในพื้นที่เกษตร หอยกาบน้ำจืดในอ่างเก็บน้ำ ปลากระมังในแม่น้ำน่าน ที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน อีกด้วย (ศิลปชัย, 2554)
...
การตรวจพบไกลโฟเซตในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย รายละเอียดการตรวจพบในสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหาร สถานที่ น่าน พบใน ดิน 145.04-3,311.69 ไมโครกรัม/กก. และ ตะกอนดิน 132.65-3,913.86 ไมโครกรัม/กก. พบในน้ำประปาหมู่บ้าน ในทุกตัวอย่าง (21 ตัวอย่าง) ในช่วง 3.09-54.12 ไมโครกรัม/ลิตร พบใน ผักท้องถิ่น มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน Codex จำนวน 17 ตัวอย่าง จาก 45 ตัวอย่าง
พบใน ปลา มีค่าเกินค่ามาตรฐาน Codex ในทุกตัวอย่าง (19 ตัวอย่าง) ในช่วงค่า 113.96-9,613.34 ไมโครกรัม/กก. (เอกสารอ้างอิง พวงรัตน์ และคณะ, 2555) พบใน กบหนอง ปูนา ในพื้นที่เกษตร หอยกาบน้ำจืดในอ่าง เก็บน้ำ และปลากระมัง ในแม่น้ำน่าน ที่อำเภอเวียงสา น่าน (ศิลปชัย, 2554 ธงชัย รชตะ ภาณุพงศ์ และอรสา, 2555) พบใน ผักผลไม้ หลายจังหวัด ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 6 ตัวอย่าง จาก 76 ตัวอย่าง ผักผลไม้ในตลาดโมเดิร์นเทรด (Thai PAN, 2560)
ต่างประเทศพบใน ธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ อาหารแปรรูปหลายชนิด เช่น ขนมปัง ขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่ม เช่น น้ำส้ม เบียร์ ไวน์ นมถั่วเหลือง นมแม่ น้ำผึ้ง เครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง อาหารเด็ก เช่น นมผง ซีเรียล เป็นต้น (UK monitoring data, from the Defra Expert Committee on Pesticide Residues in Food (PRiF) surveillance programmes (2011-2014) The 2013 European Union report of pesticide residues in food, EFSA, 2015a)
ข้อเสนอการควบคุมไกลโฟเซต ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต
จากงานศึกษาวิจัยที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ (scientific evidences) ในประเด็นเป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ (2A) รวมทั้งเป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ (EDC) โรคเบาหวาน และโรคไต
อีกทั้งพบการตกค้างในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดา และการตกค้างในสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักป้องกันเอาไว้ก่อน (precaution approach) ซึ่งเป็นหลักการข้อที่ 15 ที่ได้รับการรับรองภายใต้คำประกาศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Rio Declaration from the UN Conference on Environment and Development : Principle 15) และการปกป้องสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติมาตราที่ 24 ให้เด็กได้รับการคุ้มครองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สนับสนุนการยกเลิกการใช้
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และข้อมูลที่ชัดเจนว่า ในการยกเลิกการใช้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม และสามารถใช้สารทดแทนชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยมากกว่าการใช้สารเคมี.
หมอดื้อ