“ความสุขไม่ต้องลงทุน ความดีมันทำไม่ยาก แค่เสียสละวันหนึ่งไม่เกินชั่วโมง ก็สามารถทำให้เราเป็นคนดีได้ ของดีอยู่ใกล้ตัว วันนี้เขาสอนสมาธิเก็บเงินแพงๆในยุโรป เพราะคนอยากมีความสุข แต่ของเราสอนให้ฟรีๆยังไม่ค่อยมีใครอยากทำ เชื่อผมอย่าไปฝึกสมาธิตอนมีทุกข์ มันจะได้สมาธิช้ามาก ให้ใช้ชีวิตธรรมดาและฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ สะสมบุญไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลามีทุกข์ ความทุกข์จะน้อยลงไม่ท่วมท้น สำหรับผมการสร้างคนให้มีความรู้ทางโลกคู่ความรู้ทางธรรมสำคัญกว่าการสร้างวัด”
“ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ผู้อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน ให้ข้อคิดทิ้งท้ายไว้ในการสัมภาษณ์คราวก่อน เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้งในดินแดนพุทธภูมิ ก็ถึงเวลาต้องค้นหาคำตอบว่า ทำไมการสร้างคนให้มีความรู้ทางโลกคู่ความรู้ทางธรรมจึงสำคัญกว่าการสร้างวัด และทำไมมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม จะต้องเดินทางไปไกลถึงประเทศอินเดีย เพื่ออุปสมบทพระภิกษุ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว และปีนี้มีผู้นำองค์กรจากหลากวงการเข้าร่วมอุปสมบทมากถึง 82 คน ทั้งๆที่เมืองไทยของเราก็มีวัดหลายหมื่นวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

...

ทำไมต้องไปบวชไกลถึงอินเดีย ทั้งๆที่เมืองไทยก็มีวัดอยู่เยอะแยะ
การบวชที่ประเทศไทยนั้นดี แต่การไปบวชที่ 4 สังเวชนียสถาน ในดินแดนพุทธภูมิ ทำให้ได้ ความรู้สึกที่เกิดได้ยากแก่คนทั่วไป เป็นการแสวงหาความจริงตามรอยบาทพระศาสดา ทำให้เราได้เห็นว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง และคำสอนของพระองค์ยังทันสมัยเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถนำมาปฏิบัติตามได้จนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญการบวชในประเทศไทยอาจทำให้ตัดขาดทางโลกได้ยาก แต่เมื่อเดินทางไปบวชที่ดินแดนพุทธภูมิก็จะไม่มีคนตามมาฉลองศรัทธา เวลาส่วนใหญ่มุ่งอยู่ในการแสวงบุญ, ไม่มีภาระทางบ้าน, ไม่มีใครมารบกวน การบวชที่นี่เป็นเหมือนอินเทนซีฟคอร์ส แม้จะเป็นการบวชเพียง 11 วัน แต่ก็เชื่อมั่นว่าน่าจะได้อะไรเท่ากับการบวชทั้งพรรษาในประเทศไทย เพราะผู้บวชสามารถใช้เวลาเต็มที่ในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า จะได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฟังธรรมและปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะระหว่างนั่งรถเดินทางไปยังสังเวชนียสถานต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเป็น 10 ชั่วโมง ก็จะได้ฟังธรรมและประวัติเรื่องราวของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มอิ่มทั้งหลับทั้งตื่น เหตุผลอีกข้อที่เลือกมาบวชที่วัดไทยพุทธคยาเป็นครั้งที่สามแล้ว เพราะไม่เคยเห็นที่ใดจะจัดการอุปสมบทได้เต็มรูปแบบ มีทั้งความเคร่งครัด, ประณีตงดงาม และศักดิ์สิทธิ์เท่ากับวัดไทยพุทธคยา ภายใต้การนำของเจ้าอาวาส “พระธรรมโพธิวงศ์” หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล


หัวใจสำคัญของการบวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ตรงไหน
การได้บวชเป็นพระภิกษุใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นศุภนิมิต ทำให้เกิดความปีติความภาคภูมิใจ ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆก็ทำได้ พิธีกรรมทุกอย่างที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งริเริ่มไว้โดย “พระธรรมโพธิวงศ์” เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ล้วนมีความสำคัญ และมีนัยสื่อถึงพระพุทธองค์โดยตรง การได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงเป็นนิมิตที่เป็นมงคลต่อตนเอง ทำให้เกิดสติปัญญาแตกฉานในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ที่ตรงนั้นเป็นที่ตรัสรู้ธรรมของพระองค์ โบราณอาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า ถ้าบุคคลใดต้องการรับทรัพย์มรดก หรือเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า ต้องไปที่โคนต้นไม้ใหญ่ เพราะสถานที่ตรงนั้นคือที่รับมรดกความเป็นทายาทของพระศาสดา ฉะนั้นการไปบวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงเสมือนเราตั้งใจไปรับทรัพย์มรดกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สิ่งที่ได้จากการบวชที่อินเดียอีกประการคือ เป็นโอกาสหายากที่จะได้ตามรอยบาทของพระพุทธเจ้า ย้อนเวลากลับไปสำรวจจุดกำเนิดของพุทธศาสนา ด้วยการเยือนสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล ไล่ตั้งแต่สถานที่ตรัสรู้ ในพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย, สถานที่ปฐมเทศนา ในสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย, สถานที่ปรินิพพาน เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย ไปจนถึงสถานที่ประสูติ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล
...


คนส่วนใหญ่ไม่กล้าไปอินเดียเพราะกลัวลำบาก ถ้าอยากไปแสวงบุญในแดนพุทธภูมิต้องผ่านด่านทดสอบขนาดไหน
การมาบวชยังดินแดนพุทธภูมิ ไม่มีคำว่าสบาย มาที่นี่ต้องพบเจอแต่ความลำบากยากเข็ญ ถนนหนทางขรุขระ ระยะทางแต่ละเมืองห่างไกลกันมาก ไปที่ไหนก็มีแต่ฝุ่น ไปที่ไหนก็เห็นแต่ขอทาน ได้เห็นคนจัณฑาลมือขาดเท้าขาดนอนกองอาจม ต้องคลานมาขอทานเพื่อเลี้ยงชีพ ได้สัมผัสกับความทุกข์เข็ญจริงๆ รับรองว่าความทุกข์แบบนี้ไม่มีทางได้เห็นในเมืองไทย แต่เมื่อมาถึงดินแดนพุทธภูมิ เราได้เห็นสัจธรรมของโลก ดินแดนพุทธภูมิจึงมีมาเพื่อศรัทธา ไม่ได้มีเพื่อตัณหา ใครไปยุโรปไปอเมริกาเรียกว่าไปเพื่อสนองตัณหาความสะดวกสบาย แต่คนมาอินเดียต้องมีศรัทธาพามา ไม่ใช่ตัณหาพามา เพราะไม่มีคำว่าสบาย คนส่วนใหญ่ไม่กล้าไปบวชที่อินเดีย เพราะกลัวกิตติศัพท์ชื่อเสียงของอินเดีย กลัวสภาพความเป็นอยู่, ความสกปรก, ความไร้ระเบียบ กลัวสิ่งที่ต้องเผชิญ แม้กระทั่งการเดินทางที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ชั่วโมง ก็กลัวแล้ว จึงไม่กล้าไปอินเดีย ยอมรับว่าการไปบวชที่อินเดียเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อผ่านมาได้ครั้งหนึ่ง จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันง่ายหมด จะไปประเทศไหนก็สะดวกสบาย เพราะได้ทำสิ่งยากที่สุดมาแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาจริงๆ


ผ่านการบวชมาหลายครั้ง ในทัศนะของ “ดร.บวรศักดิ์” ถ้าไม่เคยบวชจะพลาดอะไรในชีวิต
การบวชเป็นอานิสงส์ทั้งแก่ตนเอง, แก่ผู้อื่น และเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ประโยชน์ทั้งหมดนี้คือ “บุญ” แปลว่า “ความดี” ฉะนั้น การบวชจึงเป็นการทำความดี, เป็นประโยชน์, เป็นสุข ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เช่น บิดามารดา ตรงข้ามกับ “บาป” คือ “ความชั่ว” ซึ่งก่อให้เกิดโทษทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญการบวชก่อให้เกิดอานิสงส์เป็นบุญใหญ่แก่ตนเอง เพราะในขณะที่บวชจะได้ทำบุญกิริยาวัตถุ 10 ครบทุกประการ ตั้งแต่การทำทาน, รักษาศีลทั้ง 227 ข้อ และทำภาวนาสวดมนต์ทำสมาธิ บุญประการที่สี่ได้กราบครูอาจารย์ไหว้พระที่บวชก่อน เป็นบุญจากการอ่อนน้อมถ่อมตน บุญประการที่ห้าคือการขวนขวายช่วยเหลือเพื่อทำประโยชน์ให้ผู้อื่น ส่วนบุญประการที่หกและเจ็ด ได้ฟังธรรมและรับการสั่งสอนธรรม อานิสงส์ยังรวมถึงการได้แบ่งปันความดีให้ผู้อื่น เช่น ให้พ่อแม่ และการได้อนุโมทนายินดีในความดีของผู้อื่น เวลาใครทำบุญทำความดี แค่เราสาธุก็ได้บุญแล้ว ส่วนบุญประการสุดท้ายคือ “ทิฏฐุชุกัมม์” การทำความเห็นให้ตรงถูกต้องตามธรรม
...

ทำไมอาจารย์ถึงย้ำว่าแม้ไม่มีโอกาสได้บวช แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตควรแสวงบุญในพุทธภูมิ
การเดินทางไปบวช ไปปฏิบัติธรรม หรือแสวงบุญ ในดินแดนพุทธภูมินั้น ถือเป็นบ่อเกิดแห่งบุญบารมี การเดินทางไปเยือนสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล จึงเปรียบเสมือนได้ตามรอยบาทพระศาสดา เพื่อให้เกิดความยินดีว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง และหลังจากกลับมาจะรู้สึกได้ว่าพุทธศาสนามีความสำคัญต่อชีวิตของเราจริงๆ รู้สึกว่าโชคดีที่มีโอกาสได้สัมผัสกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้สัมผัสความหมายแท้จริงของพระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาพติดตาตรึงใจอยู่ตลอด แม้กลับเมืองไทยก็ยังระลึกนึกถึงตลอด นึกถึงเหตุการณ์ที่ได้มีโอกาสไปบวชไปกราบไหว้พระพุทธองค์ถึงที่ประทับ และไปบำเพ็ญบุญบารมีตามสถานที่สำคัญต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดความภูมิใจ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ขอให้รักษาศีลให้ดี, ทำจิตใจให้ผ่องใส, ทำสิ่งที่เป็นความดี, เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น, เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ก็ถือเป็นการสร้างบุญบารมีแล้ว ใครไปเยือน 4 สังเวชนียสถานด้วยจิตศรัทธา ไปทำพุทธานุสติว่า นี่คือที่ประสูติ, ที่ตรัสรู้, ที่แสดงปฐมเทศนา และที่ปรินิพพาน ประโยชน์ในจิตศรัทธาแค่นี้ ก็ไม่ตกนรกแล้ว เป็นประกาศนียบัตรที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง.


ทีมข่าวหน้าสตรี