คืนความสมดุลให้ธรรมชาติ ด้วยการร่วมกันดูแลและอนุรักษ์ผืนป่าอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ได้จัดทำโครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า พร้อมน้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาดำเนินโครงการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรีร่วมกับภาครัฐและเอกชนบูรณาการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยพัฒนา แหล่งอาหารสัตว์ป่า และสร้างความปลอดภัยให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

นายชยพล ศรศิลป์ ผู้บริหารฝ่ายบริหารความรับผิดชอบต่อสังคม สยามไวเนอรี่ เผยว่า กลุ่มบริษัท สยามไวเนอรี่ ได้เริ่มดำเนินโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูผืนป่ากุยบุรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 โดยร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และชุมชน จัดตั้งเป็นภาคีเครือข่าย องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรีหรือ POWER of Kuiburi สร้างแนวทางและการจัดการทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ส่งผลให้การอนุรักษ์ช้างป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถูกยกให้เป็นต้นแบบของการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติภายใต้ชื่อ “กุยบุรีโมเดล” ปัจจุบันเรายังได้ร่วมฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าโดยรับผิดชอบดูแลแปลงหญ้าจำนวน 300 ไร่ ตลอดจนฝายน้ำกึ่งถาวร โป่งเทียม และแหล่งน้ำในแปลงหญ้า เพื่อให้สัตว์ป่าได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนหากิน ทั้งยังสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยมอบอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังเห็นความสำคัญของการรักษาสมดุลของผืนป่าผ่าน “นกนักอนุรักษ์” อย่างนกเงือก ซึ่งก่อนหน้านี้จำนวนลดลงจนแทบจะสูญพันธุ์และถูกกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของผืนป่าเป็นอย่างมาก โดยได้ริเริ่ม “โครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า” เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์นกเงือก

...

ผู้บริหารสยามไวเนอรี่ยังกล่าวต่ออีกว่าโครงการทดลองพัฒนา “โพรงรังเทียมของนกเงือกจากถังไวน์เก่า” นี้ได้ร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดลในการดูแลของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ และออกแบบโพรงรังเทียมโดย อ.ชาคร ผาสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เพื่อเพิ่มทางเลือกและโอกาสการเข้าโพรงรังของนกเงือกให้มากขึ้น อันจะเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนประชากรของนกเงือกได้ในทางหนึ่ง ทั้งนี้จากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือกระบุว่า นกเงือก คือนกปลูกป่าตัวจริงโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งโพรงรังเทียมไปแล้วใน 6 พื้นที่ อาทิ ในป่าบริเวณไร่องุ่นมอนซูน แวลลีย์ ของสยามไวเนอรี่ จ.ประจวบคีรีขันธ์, สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ ป่าฮาลา-บาลา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส, สวนป่าพระนามาภิไธย ภาคใต้ ส่วนที่ 2 ในอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา.