เมื่อพูดถึงเรื่องราวของรูปสลักที่ชาวอียิปต์โบราณเมื่อหลายพันปีก่อนรังสรรค์ขึ้นมาแล้ว หนึ่งในประเด็นที่น่าหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุดก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ “จมูก” ของรูปสลักที่มักจะเสียหาย หรือไม่ก็ดูเหมือนจะถูกแซะออกไป จากใบหน้าอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะรูปสลักของมหาสฟิงซ์ (Great Sphinx) แห่งกิซา ที่มีตำนานเล่าถึงสาเหตุของความเสียหายเอาไว้หลากหลายจนทำให้สับสนว่า ตกลงแล้วตำนานไหนกันแน่ที่ถูกต้อง

นั่นจึงทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับปริศนาของจมูกที่หายไปจากรูปสลักของชาวไอยคุปต์กันยกใหญ่ว่า มันจะเกิดจากความบังเอิญ หรือแท้ที่จริงแล้ว มันจะมีเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังอันน่าทึ่งซุกซ่อนอยู่กันแน่ วันนี้คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนจะพาแฟนานุแฟนไปไขปริศนาเกี่ยวกับรูปสลักไร้จมูกของชาวไอยคุปต์ กันครับว่า แท้ที่จริงแล้วข้อเท็จจริงของเรื่องนี้มันคืออะไร!?
...

ในมุมมองของนักโบราณคดีแล้ว ความเป็นไปได้ของจมูกที่หายไปจากรูปสลักไอยคุปต์ก็ถูกแบ่งออกเป็นหลายสาเหตุเลยทีเดียวครับ สาเหตุแรกสุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของ“กาลเวลา” และการสึกกร่อนไปตามอายุขัยย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ด้วยว่ารูปสลักของชาวอียิปต์โบราณนั้นมักจะสลักขึ้นมาจากหิน บ้างก็ใช้หินทราย บ้างก็ใช้หินปูน เมื่อรูปสลักเหล่านั้นผ่านแดดผ่านฝน ผ่านสภาพอากาศอันสุดโต่งของอียิปต์ ที่มีทั้งลมและพายุทรายมาหลายร้อยหลายพันปีก็ต้องเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะว่าเมื่อหลายพันปีก่อน นักเดินทางยุคดึกดำบรรพ์หลายต่อหลายท่านที่ได้เข้ามาชมรูปสลักเหล่านี้ก็ต้องมีการลูบๆคลำๆกันบ้าง ประกอบกับคุณสมบัติของหินบางชนิดที่เปราะและแตกง่ายอยู่แล้ว นั่นยิ่งทำให้รูปสลักเสียโฉมได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริเวณแขนและขาของรูปสลักที่มักจะแตกหักเสียหายไปก่อนเพื่อน และแน่นอนครับว่า ส่วนของจมูกที่ยื่นออกมาจากบริเวณใบหน้าก็อาจจะเป็นส่วนที่เสียหายได้ง่ายกว่าส่วนอื่นครับ

อีกหนึ่งตัวการหลักที่ทำให้รูปสลักและโบราณวัตถุชิ้นสำคัญเสียหายก็คือ “มนุษย์” ด้วยกันเองนี่แหละครับ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุนเดิม อะไรที่เขาห้ามแตะต้อง เราก็ยิ่งอยากจะสัมผัส ยิ่งในยุคโบราณที่รูปสลักทั้งหลายยังไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์และยังไม่มีป้าย “ห้ามจับ” อย่างเป็นทางการ เชื่อได้เลยครับว่า รูปสลักแต่ละชิ้น รวมทั้งภาพบนผนังล้วนผ่านมือมนุษย์โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน
นอกจากนักท่องเที่ยวที่สร้างความเสียหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แล้ว กลุ่มนักโบราณคดียุคแรกก็มีส่วนทำให้รูปสลักและหลักฐานทางโบราณคดีเสียหายได้เช่นกัน ด้วยว่าเหล่านักขุดค้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 นั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย บางคนก็รีบขุดเพื่อค้นหาสมบัติ หรือนครโบราณอันทรงคุณค่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ไฮน์ริช ชลีมานน์ (Heinrich Schliemann) ซึ่งเป็นคนที่ค้นพบกรุงทรอย (Troy) ในตำนาน เพราะแกเล่นขุดจนทำลายกรุงทรอย
ที่แท้จริงไปจนเกือบหมด กว่าที่นักโบราณคดียุคหลังที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีจะเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง กรุงทรอยที่แท้จริงในมหากาพย์อีเลียด (Iliad) ก็เสียหายจากน้ำมือของชลีมานน์ไปเยอะแล้วครับ
...

แต่หลายๆสาเหตุที่สาธยายไปเบื้องต้นก็ยังไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมดว่า ทำไมรูปสลักอียิปต์โบราณถึงเสียหายที่จมูกเสียเป็นส่วนใหญ่ล่ะ เพราะถ้าเป็นการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติก็ไม่น่าจะเล่นงานเฉพาะเจาะจงที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งได้ถึงเพียงนี้ นั่นหมายความว่า ตัวการที่แท้จริงก็คงจะหนีไม่พ้น “มนุษย์” นี่ล่ะครับ เพียงแค่ว่าพวกเขาทำไปเพื่ออะไรกันแน่?
คำตอบของคำถามนี้อาจจะอยู่ที่มหาสฟิงซ์แห่งกิซา ก็เป็นได้ครับ เพราะว่ารูปสลักสิงโตขนาดยักษ์ที่มีใบหน้าเป็นฟาโรห์ ซึ่งนักอียิปต์วิทยากระแสหลักเชื่อว่าเป็นใบหน้าของฟาโรห์คาเฟร (Khafre) เจ้าของพีระมิดองค์กลางแห่งกิซานั้นก็ “ไร้จมูก” เช่นกัน ด้วยว่าเมื่อลองพิจารณาใบหน้าของสฟิงซ์ให้ดีๆแล้ว เหมือนว่า จมูกของฟาโรห์คาเฟรจะบี้แบนผิดปกติ และเมื่อเข้าไปตรวจสอบ ใกล้ๆก็พบร่องรอยหลักฐานว่า สฟิงซ์ร่างนี้เดิมทีต้องมีจมูกอย่างแน่นอนครับ เพียงแค่ว่ามันถูก “ทำลาย” ไปอย่างจงใจ เพราะค้นพบทั้งร่องรอยของกระสุนและการกะเทาะของสิ่วลงบนบริเวณที่เคยเป็นจมูกอย่างชัดเจน ว่าแต่ใครกันที่ทำเรื่องเลวร้ายเช่นนี้กับมหาสฟิงซ์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ลงคอ
เชื่อว่าสาวกไอยคุปต์หลายๆท่านอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับตำนานจมูกที่หายไปของมหาสฟิงซ์แห่งกิซากันมาบ้าง และเรื่องราวที่เล่าขานกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดได้กล่าวเอาไว้ว่า ผู้ที่ทำลายจมูกของมหาสฟิงซ์นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพระเจ้านโปเลียน (Napoleon) ที่นำทัพบุกเข้ามาในอียิปต์เมื่อปี ค.ศ.1798 กองทหารของนโปเลียนได้รัวกระสุนปืนใหญ่เข้าใส่จมูกของสฟิงซ์อย่างเมามันจนเสียหาย แต่บางคนก็บอกว่า ตัวการที่แท้จริงน่าจะเป็นพวกทหารมัมลุก (Mamluk) ที่ใช้จมูกของสฟิงซ์เป็นเป้าซ้อมปืนต่างหากเล่า สุดท้ายก็ดูเหมือนจะผิดทั้งคู่ครับ เพราะหลักฐานซึ่งเป็นภาพวาดโดยเฟรเดริค แอล. นอร์เดน (Frederic L. Norden) ที่วาดภาพใบหน้าด้านข้างของสฟิงซ์แห่งกิซามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1755 ได้แสดงให้เห็นถึงจมูกที่บี้แบนผิดปกติของสฟิงซ์มาก่อนแล้วครับ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าทหารของนโปเลียนจะเคยประเคนกระสุนปืนใหญ่ใส่ใบหน้าของสฟิงซ์จริงหรือไม่ จมูกของสฟิงซ์ก็ถูกทำลายตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว

...
หลักฐานสำคัญที่เปิดเผยชื่อของคนมือบอนตัวจริงมาจากเอกสารของนักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่มีชื่อว่า อัล-มักริสี (Al-Maqrizi) เอกสารฉบับนี้กล่าวว่า บุคคลชื่อ “มูฮัมหมัด ซา’อิม อัลดาห์ร” (Muham– mad Sa'im al-Dahr) หนึ่งในกลุ่มมุสลิมซูฟียฺ (Sufi) คือผู้ทำลายจมูกของสฟิงซ์ เมื่อประมาณปี ค.ศ.1378 ส่วนสาเหตุที่เขากระทำการอุกอาจเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าชาวนาในอียิปต์ช่วงนั้นมักจะบูชาและถวายเครื่องบรรณาการแด่สฟิงซ์เพื่อให้แม่น้ำไนล์ไหลหลาก และการกระทำนี้สร้างความไม่พอใจให้กับมูฮัมหมัด ซา’อิม อัลดาห์รเป็นอย่างมาก เขาก็เลยทำลายจมูกของสฟิงซ์จนเสียหายนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา ถึงอย่างนั้นนักวิชาการก็ยังไม่เชื่อเอกสารของอัลมักริสีเต็มร้อยหรอกนะครับ แต่ด้วยว่าเอกสารชิ้นนี้คือหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พูดถึงการทำลายจมูกของมหาสฟิงซ์แห่งกิซา นั่นจึงทำให้ในตอนนี้ผู้ต้องสงสัยกลายเป็นกลุ่มมุสลิมซูฟียฺ (Sufi) และสาเหตุของการทำลายก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อทางศาสนานั่นเองครับ
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า ชาวมุสลิมคือผู้ต้องสงสัยที่แซะจมูกของรูปสลักไอยคุปต์ทั้งหลายออกไปนะครับ เพราะการทำลายรูปสลักอียิปต์โบราณนั้นเกิดขึ้นจากผู้คนในหลากหลายศาสนา ทั้งกลุ่มคริสเตียนในยุคหลังที่เข้ามาในอียิปต์และชาวยิวบางกลุ่มก็เป็นต้นเหตุของความเสียหายของภาพสลักต่างๆบนผนัง รวมถึงการทำลายจมูกของรูปสลักไอยคุปต์ด้วยเช่นกัน

อีกหนึ่งสาเหตุของการทำลายจมูกของรูปสลักไอยคุปต์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ นั่นก็คือการพยายามทำลายหลักฐานการมีตัวตนอยู่ของบุคคลนั้นๆออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่นรูปสลักของฟาโรห์นอกรีตอัคเค–นาเตน (Akhenaten) ที่มักจะถูกทำลายจนใบหน้าเสียหายและจมูกก็ถูกทำลายไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งเหตุผลที่ชาวอียิปต์โ บราณ ด้วยกันเองทำลายจมูกและอวัยวะบางชนิดไปอย่างจงใจก็แฝงเอาไว้ด้วยมโนคติทางความเชื่อที่น่าทึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงต้องดูจากสุสานของฟาโรห์ที่มีชื่อว่า “อัย” (Ay) ครับ อัยเป็นฟาโรห์เฒ่าที่ขึ้นครองราชย์หลังจากยุวฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) สิ้นพระชนม์เมื่อประมาณ 1,320 ปีก่อนคริสตกาล ถึงแม้ว่ายุวกษัตริย์พระองค์นี้จะเป็นผู้ที่นำศาสนาแบบพหุเทวนิยม หรือการนับถือเทพเจ้าหลายองค์กลับมายังสังคมของชาวอียิปต์โบราณอีกครั้ง แต่ด้วยว่าพระองค์เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของฟาโรห์นอกรีต ประกอบกับอัยซึ่งมีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าพระองค์อาจจะเป็น “บิดา” ของพระนางเนเฟอร์ตีติ (Nefertiti) มเหสีของฟาโรห์อัคเคนเตนผู้โด่งดังด้วย นั่นจึงทำให้อัยยังมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์นอกรีตด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในประวัติศาสตร์ของชาวอียิปต์โบราณกันเองแล้ว พวกเขาไม่ยอมรับว่า ฟาโรห์ตั้งแต่อัคเคนาเตนไปจนถึงอัยเคยเป็นกษัตริย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ภาพสลักของฟาโรห์อัยภายในสุสานรหัส WV23 ในหุบผากษัตริย์ถูก “ทำลาย” อวัยวะบางชนิดออกไปอย่างจงใจอีกด้วยล่ะครับ
วิธีการทำลายตัวตนเช่นนี้ถูกเรียกว่า “การประหารความทรงจำ” (Damnatio memoriae) ครับ เมื่อลองสังเกตภาพของฟาโรห์อัยที่ปรากฏบนผนังสุสานก็จะพบว่าชาวไอยคุปต์ในยุคหลังได้พยายามลบตัวตนของอัยด้วยการจงใจสกัดอวัยวะสำคัญบางอย่างของภาพออกไปโดยไม่ได้สนใจที่จะทำลายอวัยวะส่วนอื่นออกไปด้วย เพราะเมื่อพิจารณาภาพของฟาโรห์อัยจะพบว่าส่วนของใบหน้าถูกทำลาย แต่บางภาพก็ไม่ได้เป็นการทำลายทั้งใบหน้า มีการเลือกทำลายเพียงแค่เฉพาะตำแหน่งเท่านั้น ไหล่ของอัยในบางภาพยังคงสภาพดี ถึงแม้ว่าลำตัวส่วนบนจะถูกทำลายไปหลายจุด แต่ลำตัวส่วนล่างแทบจะไม่ถูกแตะต้อง สำหรับช่องท้อง ด้านล่างลงไปจนถึงต้นขาส่วนบนถูกทำลายอย่างจงใจ ในขณะที่ขาทั้งสองข้างยังอยู่ในสภาพเดิม ว่าแต่รูปแบบการสกัดอวัยวะบางส่วนทิ้งไปเช่นนี้ สื่อความหมายอะไรให้เราได้รู้บ้าง?
ส่วนของใบหน้าที่เสียหายไปนั้น หลักๆก็คือเป็นการทำลาย “จมูก”นั่นเองครับ ด้วยว่าชาวไอยคุปต์ทราบดีว่าจมูกนั้นเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจและลมหายใจคือชีวิต ดังนั้น การทำลายจมูกก็คือการทำลายอวัยวะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การทำลายจมูกของภาพสลักบนผนังเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นในหลากหลายสุสานเลยล่ะครับ
สำหรับการทำลายลำตัวส่วนบนนั้น สื่อถึงการทำลาย “หัวใจ” ชาวไอยคุปต์เชื่อว่า หัวใจคือ ศูนย์กลางของความคิดและความทรงจำ ชาวอียิปต์โบราณจึงต้องเก็บรักษาหัวใจเอาไว้ในร่างของมัมมี่เพื่อนำไปใช้ตัดสินความดีความชั่วกับขนนกแห่งความเที่ยงธรรมในโลกหลังความตาย ดังนั้น การที่หัวใจหายออกไปจากร่าง หรือการทำลายตำแหน่งของหัวใจในภาพสลักจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำลายตัวตนของบุคคลนั้นๆ เพื่อไม่ให้ได้ไปใช้ชีวิตในโลกหน้า ส่วนการทำลายภาพสลักส่วนล่างของช่องท้องก็คือ การทำลาย “อวัยวะสืบพันธุ์” ซึ่งก็คือ การทำลายความสามารถในการให้กำเนิดบุตรของบุคคลนั้นๆไปนั่นเองครับ

จะเห็นได้ว่าการทำลายจมูกของรูปสลักอียิปต์โบราณนั้น มีสาเหตุหลักมาจากความเชื่อทางศาสนาและบ่อยครั้งก็มาจากชาวอียิปต์โบราณด้วยกันเองที่ต้องการทำลายตัวตนของบุคคลนั้นๆให้หายออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการประหารความทรงจำ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็คงไม่สามารถที่จะเหมารวมได้ว่า รูปสลักทุกชิ้นของชาวไอยคุปต์ที่ไม่มีจมูกจะถูกทำลายด้วยเหตุผลสองข้อนี้เสมอไปหรอกครับ เพราะยังมีรูปสลักอีกมากมาย รวมทั้งของฟาโรห์นอกรีตอย่างอัคเคนาเตนเองที่จมูกยังคงสภาพดีไม่ถูกรบกวนเลยแม้แต่น้อยอยู่ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแล้วจมูกที่หายไปจากรูปสลักของชาวไอยคุปต์จะเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ได้เล่าสู่กันฟังไปในครั้งนี้ด้วยหรือไม่นั้น ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักอียิปต์วิทยา ที่จะขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติมเพื่อนำมาวิเคราะห์หาคำตอบที่แท้จริงกันต่อไปครับ.
โดย :สืบ สิบสาม
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน