เวลาพูดถึงหลอดเลือดอุดตัน คนส่วนใหญ่มักนึกถึง “หลอดเลือดแดง” มากกว่า “หลอดเลือดดำ” อาจเป็นเพราะเวลาที่มีการพูดถึงคำว่า “เลือด” เรามักนึกถึงเลือดสีแดงสดๆ จนลืมไปว่าจริงๆแล้วในร่างกายของคนเรามีหลอดเลือดอยู่ 2 ชนิด คือ หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ

โรคหลอดเลือดดำอุดตัน หรือ Deep Vein Thrombosis (DVT) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำที่ขาเกิดการอุดตัน อันเนื่องมาจากสาเหตุที่ลิ่มเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก ทำให้เกิดเลือดคั่ง จับตัวแข็ง อุดตัน

จากรายงานพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งส่วนใหญ่ป้องกันได้ เป็นการเสียชีวิตซึ่งไม่จำเป็นนับล้านคน รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และ
เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพพลภาพในทุกประเทศทั่วโลก

สาเหตุของโรคเกิดจากการมีลิ่มเลือดเข้าไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือด ในกลุ่มของหลอดเลือดแดง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองตีบ ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือที่เรียกว่า VTE คือการที่มีลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขา อันตรายของโรคนี้คือ การที่ลิ่มเลือดอาจหลุดจากขาไปอุดที่ปอด ทำให้เสียชีวิตได้

...

อาการเตือนของโรค VTE เริ่มแรกจะปวดขาอย่างมาก อาจมีอาการขาบวม กดเจ็บ โดยอาการบวมมักเริ่มที่น่อง มีรอยแดง หรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีอาการร้อนที่ขา ส่วนใหญ่จะมีขาบวมข้างเดียว ร่วมกับอาการปวด

หากอาการรุนแรงที่ทำให้สงสัยได้ว่า อาจมีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ผู้ป่วยจะมี อาการหอบ หายใจไม่ทั่วปอด หายใจเร็วโดยหาสาเหตุไม่ได้ เจ็บหน้าอก เมื่อหายใจเข้าลึกๆจะเจ็บมากขึ้น หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนคล้ายจะเป็นลมมึนงง ในรายที่เป็นรุนแรงอาจถึงขั้นหมดสติ ซึ่งอาการเหล่านี้ บางครั้งก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดๆว่าเป็นอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการประเมินจากแพทย์ในทันที เพราะหากปล่อยให้อาการหนักอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มีหลายปัจจัยมาก ทั้งจากกรรมพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำประมาณ 50% เกิดจาก สาเหตุทางพันธุกรรมและปัจจัยเสริมอื่นๆ ในส่วนของพันธุกรรม อาจเกิดจากการที่มีการแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ขาดโปรตีนที่ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น โปรตีน C (Protein C) โปรตีน S (Protein S) และแอนติธรอมบิน III (Antithrombin III)

ส่วนสาเหตุอื่นๆที่เกิดตามมา เช่น การตั้งครรภ์ หรือ ภาวะที่มีการกระตุ้นให้เลือดแข็งตัวง่ายหลังคลอด การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน จากยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษาอาการวัยทอง การ นอนนิ่งๆอยู่กับที่นานๆ (Immobilization) ภาวะหลังผ่าตัด โรคอ้วน มะเร็งบางชนิด หรือแม้แต่คนที่นั่งอยู่กับที่นานๆโดยไม่เคลื่อนไหว เช่นนั่งเครื่องบินในระยะทางไกลๆ หรือนั่งทำกิจกรรมบางอย่างต่อเนื่องนานเกินไป

เคยมีรายงานว่ามีเด็กสาววัย 20 ปี ในประเทศจีน ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล หลังจากเกิดอาการปวดขาอย่างมาก แพทย์วินิจฉัยแล้วก็พบว่าเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน ถึงขั้นที่ต้องทำการผ่าตัดและให้ยารักษา เมื่อถามถึงสาเหตุของอาการดังกล่าว ก็พบว่าเธอนั่งเล่นเกมออนไลน์ติดต่อกันนานถึงกว่า 40 ชั่วโมง

...

การศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่าสาเหตุการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำถึง 60% เกิดจากการที่ผู้ป่วยมานอน รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยนอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ขยับขาไม่ได้ ลุกเดินไม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดลุกเดิน เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือด ดำอุดตันดังกล่าว ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือ VTE หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง 3 ถึง 6 เดือนแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้

หากถามว่าใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ คำตอบคือ โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะเกิดมากขึ้นหากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น การนอนโรงพยาบาลนานๆ ไม่ได้ขยับขา หรือคนไข้ผ่าตัดใหญ่ คนไข้โรคมะเร็ง คนไข้ที่มีประวัติในครอบครัว

มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในระดับลึก ประมาณ 45% ของผู้ป่วยมีประวัตินอนนิ่งๆนานกว่า 48 ชั่วโมงติดต่อกันในเดือนก่อน ที่จะป่วย 38% มีประวัติผ่าตัดภายใน 3 เดือนนำมาก่อน 34% มีประวัติเป็นมะเร็งในช่วง 3 เดือน 34% มีประวัติติดเชื้อ 26% มีประวัตินอนรักษาตัวในโรงพยาบาลก่อนหน้านั้น มีเพียง 11% ที่ไม่มีปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สัญญาณเตือนของโรคนี้ บางทีอาจพบ ผู้ป่วยเป็นซ้ำแม้จะรักษาให้หายแล้วก็ตาม เช่น อาจมี อาการปวดบวมขาเรื้อรังช่วงบ่ายๆ มีเส้นเลือดดำโป่งดำ หรือเส้นเลือดขอด ผิวหนังแข็งมีสีคล้ำขึ้น เป็นแผลเรื้อรังที่ขา ฯลฯ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้นประมาณ 50% ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก

...

การป้องกันโรคนี้ ในกลุ่มคนที่ต้องนั่งเครื่องบินในระยะไกล ควรยืนขึ้นและเดินไปมาทุก 1-2 ชั่วโมง ไม่สูบบุหรี่ก่อนเดินทาง เนื่องจากบุหรี่เป็นปัจจัยในการ เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดอย่างใดอย่างหนึ่ง หากหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เลย ใส่เสื้อผ้าสบายๆไม่รัดแน่นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด หมั่นขยับแขน ขา ข้อเท้า และเท้า เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ดื่มน้ำมากๆอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ใส่ถุงเท้ายาวชนิดช่วยพยุงขาเพื่อช่วยพยุงหลอดเลือดขาเมื่อต้องทำงานที่ต้องยืนนานๆ อย่าดื่มเหล้าหรือกินยานอนหลับที่จะทำให้นอน หรือนั่งนิ่งๆอยู่ในท่าเดียวนานเกินไป.