ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ผู้ที่เป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที มิฉะนั้น อาจถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของทุกท่าน ที่เข้ามาอยู่อาศัยร่วมชายคาในโครงการเอพี (ไทยแลนด์) ทางผู้บริหารได้จัดทำแคมเปญ “ขอพื้นที่เล็กๆ ให้หัวใจได้เต้นต่อ” (The Smallest Space to Save Lives) ซึ่ง นายวิทการ จันทวิมล ผู้บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจเอพี กล่าวว่า เราให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณภาพชีวิตของลูกค้าในโครงการของเรา โดยเริ่มจัดสรรพื้นที่ 0.1 ตารางเมตร ภายในคอนโดฯของเอพีกว่า 40 โครงการ เป็นพื้นที่ช่วยชีวิต ด้วยการติดตั้งเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ AED เพื่อช่วยชีวิตในเบื้องต้น ก่อนส่งถึงมือแพทย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละโครงการ จะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

วิทการ จันทวิมล  -  พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์
วิทการ จันทวิมล - พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์

...

พร้อมกันนี้ พล.ต.ต.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต และที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้ว่า แพทย์กู้ชีพเพียงหน่วยเดียวไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันนี้มักเกิดนอกโรงพยาบาล และผู้ป่วยไม่สามารถมาถึงโรงพยาบาลภายใน 4 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันที ดังนั้น การช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือการส่งต่อความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปให้สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เมื่อประสบเหตุและควรมีอุปกรณ์เครื่อง AED ติดตั้งอยู่ในจุดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทันที แคมเปญของเอพีนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความตระหนักถึงภัยใกล้ตัว ซึ่งถ้าทุกคนมีความรู้ในการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน และโทร.มาขอความช่วยเหลือหน่วยงานเฉพาะด้าน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 1669 เราก็สามารถช่วยลดปริมาณการสูญเสียได้.