หัวใจเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อเต้น 100,000 ครั้งต่อวัน และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 5,000 แกลลอนไปทั่วร่างกายใน 24 ชั่วโมง หน้าที่หลักของหัวใจคือการจัดหาออกซิเจนและสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อ และช่วยให้ร่างกายกำจัดคาร์บอน ไดออกไซด์และของเสียอื่นๆ เป็นเหตุผลว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ทำไมเราจึงมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว
ล่าสุด มีงานวิจัยพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว มักเกิดในช่วงฤดูหนาวมากที่สุด...! รวมถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่มักแสดงอาการเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดลง
ฤดูหนาวอาจเป็นฤดูที่หลายคนโปรดปรานเพราะอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ที่ผู้คนเคยชินกับอากาศร้อน พอมีลมหนาวมาช่วยเพิ่มความเย็นสบายก็ทำให้สดชื่นขึ้น
แต่อีกด้านหนึ่ง อากาศที่หนาวเย็นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ ที่มักจะมีอาการมากขึ้นในเวลาที่อุณหภูมิลดลง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็คือ อากาศที่หนาวเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัวและเพิ่มความดันโลหิต จึงมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลวได้ง่าย
...
ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นๆ ผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจอาจมีอาการแน่นหน้าอก เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบตันเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นและอุณหภูมิที่ลดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งเมื่ออุณหภูมิลดลง ร่างกายและหัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งหมายถึงว่า อาจมีการไปเพิ่มความดันในหัวใจและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว และหัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงฤดูหนาว ในฤดูหนาว อาการหัวใจวายจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในตอนเช้าตรู่ ซึ่งเชื่อมโยงกับความดันโลหิตสูงในตอนเช้า
และถ้าสังเกตดีๆ แม้จะพิสมัยอากาศเย็น แต่หลายคนมักจะมีความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้ามากขึ้นในหน้าหนาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
จากการศึกษาในหลายประเทศพบว่า อุณหภูมิต่ำมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการบีบรัดตัวของหลอดเลือด นำไปสู่ความดันโลหิตสูงและกระบวนการแข็งตัวของเลือด
การดูแลหัวใจให้แข็งแรงในช่วงหน้าหนาว จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าอากาศภายนอกหนาว ควรแต่งกายให้เหมาะสมก่อนออกไปข้างนอก สวมเสื้อผ้าเต็มแขนและเสื้อกันหนาว แม้การออกกำลังกายเป็นประจำจะสามารถช่วยให้คุณรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมและปรับปรุงสุขภาพหัวใจได้ แต่ในช่วงอากาศหนาว ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง พยายามออกกำลังกายในร่มแทน
รักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์แนะนำ หากต้องกินยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ไม่ควรขาดยา รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและลดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ซึ่งอาจทำให้หัวใจวายได้
สำคัญที่สุดคือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหัวใจเป็นประจำ และตรวจดูให้แน่ใจว่าหัวใจของเรายังทำงานดีอยู่
สำหรับสัญญาณเตือนอาการของโรคหัวใจวายและหัวใจล้มเหลว ที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจถี่ ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่แขน หลัง คอ กรามหรือท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน วิงเวียน เหงื่อออก แสบร้อนกลางอก อ่อนเพลียกะทันหัน
นอกจากอาการที่ว่าแล้ว ยังมีอีกอาการที่ต้องหมั่นสังเกต คือ อาการหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่ง Dr. Bhupendra Singh ที่ปรึกษาโรคหัวใจ โรงพยาบาล Manipal Ghaziabad บอกว่า บ่อยครั้งที่ผู้คนมักไม่สังเกตว่าตนเองมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ทั้งๆที่ไม่ได้มีเรื่องเครียดหรือตื่นเต้น โดยอาการหัวใจเต้นเร็วคือ มีการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที ซึ่งเป็นผลมาจากความผิดพลาดของแรงกระตุ้นทางไฟฟ้าของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก วิงเวียน และหายใจถี่ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ดี อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจหยุดเต้นได้ หากเกิดอาการลักษณะนี้ซ้ำๆควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลที่ถูกต้องและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจวาย.
...