จากหมอเด็กคนหนึ่ง พูดแทนเพื่อนๆ เป็นเรื่องที่ต่อมาจากบทความสาธารณะไม่สุข เรื่องความทุกข์กาย ทุกข์ใจของหมอ เรื่องคอขาดเลยครับ ถ้าระบบสาธารณสุขไม่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

หมอทำงานในระบบสาธารณสุขไทยมาได้เกือบครึ่งปี อยากไปเชี่ยวชาญทางด้านสมอง จึงมีเป้าหมายชัดเจน แต่ในระยะยาวการจะทำงานต่อไปได้โดยไม่ว่อกแว่ก จำต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ไม่งั้นก็จะเบื่อ หมดไฟ หมอเองคิดอยู่ตลอดว่าต้องมีความเข้าใจในคนไข้ เรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความสงสาร เพราะความจริงก็คือคนไข้มาเจอก็จำไม่ได้เท่าไหร่หรอกว่าหมอพูดอะไร แต่จะจำได้ว่ารู้สึกอย่างไรเวลามาเจอหมอคนนี้ แต่ที่พูดมานี่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเวลาให้คนไข้แต่ละคนมากพอและหมอพักผ่อนมากพอเท่านั้น

แรกๆ เริ่มต้นชีวิตหมอเวลาหยุดจะน้อยนิด แค่ได้กลับบ้านไปฉลองโอกาสพิเศษถือว่าดีแล้ว ถ้าอยากมีแฟนก็มองไปรอบๆ เพราะสังคมนอกโรงพยาบาลนั้นแทบไม่มี เตรียมใจมาแล้วเรื่องแค่นี้ ทุกคนคิดว่าอยู่โรงพยาบาลก็มีแต่คนเคารพ เงินก็ดี คิดผิดมาก คนเคารพนั้นน้อยนิด โดยเฉพาะเป็นหมอจบใหม่

...

นอกจากจะยังต้องตรวจคนไข้เยอะแยะ ต้องใช้เวลาส่วนตัวมานั่งสรุปการรักษาเวลาคนไข้ออกจากโรงพยาบาล แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือเพิ่ม โลกที่กว้างขึ้น

หมอเองก็เป็นคน ก็อยากกลับไปเจอหน้าพ่อ แม่ เจอเพื่อนเก่า หรือหาแฟนซักคน ไม่ก็อยากทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น งานอดิเรกที่ตัวเองรักอย่างเปิดร้านกาแฟเล็กๆ หรือไปออกกำลังกาย

ผู้บริหารก็คงจะช่วยได้ในอีกระดับหนึ่ง ถ้ามีประสบการณ์ และมีมุมมองไกลๆ เช่น ลงทุนเรื่องการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยในการเขียนการรักษาในโรงพยาบาล (progressnote) และช่วยการสรุปชาร์ต จัดการปัญหาเวรที่ยืดยาวเกินควร

แต่ถ้าไม่ ก็จะไปในทางตรงข้าม เพราะมีความไม่เป็นมืออาชีพและพอมีเรื่องผิดพลาดก็จะหาคนผิด (blame culture) ไม่ได้กลับไปดูที่ระบบว่าผิดที่นั่นรึเปล่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่น่าขยะแขยงและต้องกำจัดทิ้งโดยเร็ว ซ้ำร้ายการไปให้ความสำคัญการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ซึ่งอาจไม่ได้ตอบโจทย์สถานการณ์แออัดของโรงพยาบาลซักเท่าไหร่ จะต้องล้างสมองใหม่ ทุกคน จะต้องช่วยเหลือกันและกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ใช้การแนะนำและการสอนน้องๆ โดยที่ไม่ดูถูกดูแคลน ใช้วาจาสุภาพ เพราะทุกคนไม่ได้ฉลาดเท่ากัน และไม่ใช่ทุกคนที่มีความสนใจในทุกเรื่องเหมือนกัน

ส่วนเรื่องการหมดไฟ (physician burnout) ที่มีการพูดถึงเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก จะเจอเยอะเวลาทำงานไป 10 ปี หรือมากกว่า แต่บอกเลยที่ประเทศเรา 3 เดือนแรกก็ไฟมอดกันเป็นแถบ หลายเหตุผลมาก ที่บอกมาด้านบนก็ส่วนนึง อีกส่วนเพราะสมัยนี้เรื่องที่จำต้องรู้มันเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

และหลายๆคนอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนหมอสมัยก่อน แต่นี่คือโลกสมัยใหม่ อาจารย์และระบบจำต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่ปรับตามเด็กสมัยใหม่แล้ว อีก 10 ปีจะเหลือใครอยู่ในระบบโรงพยาบาลเรา

ปัญหาที่รบเร้าใจซึ่งใช้งบโรงพยาบาลมหาศาล เปลืองเตียง เปลืองเวลา ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น วันนี้หมอหงุดหงิดมากเพราะคนไข้เมาเหล้าทุกวัน สุดท้ายนอนโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง คราวนี้มาด้วยสารในร่างกายผิดปกติทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รักษาจนดี ให้กลับบ้าน

สิ่งเดียวที่ได้คือ ทวงใบรับรองแพทย์ไปลางาน อยากจะด่า คิดว่ามันถูกไหม กินเหล้าเตือนแล้วเตือนอีกไม่ยอมหยุด สุดท้ายมาจบที่โรงพยาบาล เสียเงินโรงพยาบาล สุดท้ายจะเอาใบรับรองแพทย์ไปหยุดงาน เขียนดื่มสุราเกินขนาดทำให้หัวใจเต้นผิดปกติก็ไม่เอา มาโวยวายเดี๋ยวลาไม่ได้ กลับมาถามตัวเองว่าทำไม คนคนหนึ่งถึงกลับมาด้วยเรื่องเดิมๆ บ่อยครั้งเป็นเรื่องเหล้า แต่ก็ยังคงไม่หยุด ทั้งๆที่นอนโรงพยาบาล

ซักแล้วซักอีก หมอคุยแล้ว จิตแพทย์ก็คุยแล้ว ถึงเหตุผลที่ทำไมยังดื่มทั้งๆที่รู้ถึงอันตราย ถ้าเครียดหรือมีปัญหาชีวิตจะได้ช่วยกันหาทางออก แต่มันกลายเป็นที่ดื่มนี่เพราะชอบสังสรรค์ในวงเหล้ากับเพื่อนฝูง ไม่ยอมออกจากวงเวียน สุดท้ายดื่มไปเป็น 10 ปี ก็กลับมาด้วยอาเจียนเป็นเลือด เพราะตับแข็งแล้ว

...ก็ต้องมาส่องกล้อง แทงเอาน้ำออกจากท้อง ให้ยาแพงๆ และเตียง 1 ใน 4 ของอายุรกรรมก็เต็มไปด้วยแบบนี้ ที่บาดตากว่าคือพ่อแม่ที่อายุมากแล้วต้องมาดูแลมาเช็ดตัวให้ทุกๆวัน เห็นแล้วสงสารจนไม่รู้จะพูดอะไร ลูกอกตัญญู แทนที่จะดูแลพ่อแม่

...

ส่วนเตียงอีก 1 ใน 4 ก็มาด้วยการติดเชื้อเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันจากการขาดยาต้านโรคเอชไอวี ก็คือเป็นเอดส์มานั่นเอง บ้างก็ติดเชื้อในสมอง บ้างก็ติดเชื้อเต็มไปหมดทั่วร่างกาย ตอนนี้อยู่แถบชลบุรีก็จะเจอเยอะหน่อย แต่มันเยอะจนน่ากลัว ไม่ว่าจะเชื้อวัณโรคดื้อยา และเชื้ออื่นที่จะไม่มียาใช้อยู่แล้ว

มันน่าเสียดายเพราะไม่ควรมีใครต้องมาเป็นเอดส์อีกแล้ว ยาต้านเดี๋ยวนี้ก็ดีแสนดี

ที่พูดมาทั้งเหล้าทั้งเอดส์ก็เป็นคนวัยทำงานทั้งนั้น เสียคนทำงาน แบบนี้ในอนาคตจะเอาเตียงที่ไหนมารับสังคมที่อายุมากขึ้น เตียงที่ควรจะมีเพื่อรับรีเฟอร์จากโรงพยาบาลชุมชนก็รับมาไม่ได้ แต่จะไม่รับก็ไม่ได้ถ้ามีเหตุผลที่ดี เพราะไม่รับถือว่าทำผิดต่อคนไข้ ทำผิดต่อเพื่อนร่วมอาชีพ

นี่ยังไม่ได้พูดถึงดื่มเหล้ารถชน ดื่มเหล้าตีกัน ตีกันในโรงพยาบาลอีก อย่าให้หมอพูดเลยว่าอยากจะจัดการอย่างไร ผู้อ่านนึกดูถ้าทำงานในออฟฟิศ โดนลูกค้าด่าทุกวัน อีกวันก็มาตีกันในที่ทำงาน ข้าวของเสียหาย เป็นอันตราย แบบนี้มันยังเรียกว่าที่ทำงานที่ปลอดภัยไหม ทุกคนต้องเสียสละอยู่ด่านหน้าเสี่ยงติดเชื้อต่างๆอยู่แล้ว

...

แต่ที่กล่าวมามันมากเกินไปรึ เอาแบบต่างประเทศไหม เค้าใช้มาตรการ Zero tolerance to abuse หรือจะไม่ทนแม้แต่นิดเดียวถ้าคนไข้ทำกิริยามารยาทไม่ดี ใช้คำหยาบหรือข่มขู่ จะเชิญออก หรือให้ รปภ.มาจัดการทันที ถ้าเป็นคนไข้นอนก็จะไม่คุยด้วย เพราะเค้าไม่ทนและก็จะไม่พยายามกล่อมด้วย ซึ่งเป็นนโยบายโดยทั่ว จะเอาแบบนี้บ้างดีไหม ถ้ายังแย่ลงเรื่อยๆก็คงจะไปถึงจุดนั้นแน่นอน

ทำอย่างไรดี สำนึกหายไปไหนหมด ส่วนผู้บริหารประเทศเอาเงินมาให้โรงพยาบาลจะดีกว่าไหม จะได้มีพยาบาลเพิ่ม มีคนแนะนำเรื่องเลิกเหล้า เรื่องกินยาต้าน และมีคนบริหารเรื่องสำคัญที่โดนมองข้ามไปให้ดีขึ้น ทุนไปเรียนก็เอามาเยอะๆ ไม่ต้องคิดมาก จะหวงทุนทำไม ขอแค่เป็นหมอที่มีจรรยาบรรณก็พอ

เพราะตอนนี้หมอก็ไม่มี หมอที่จบมาใหม่ ไม่มีทุนให้เรียนเค้าจะอยู่ไปทำไม ต้องรีบดำเนินการเพื่อจะได้มีคนอยู่ในระบบเยอะๆ ทุกคนแบ่งเบาภาระ คนไข้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และหมอจะได้มีชีวิตสักทีโดยที่ยังทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล ด้วยความเป็นห่วงมาก.

หมอดื้อ