ระบบราชการยิ่งใหญ่มาก ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างและหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งแยกกันและแย่งกันทำงาน และกระจายอำนาจลงสู่พื้นที่ ดังที่ควรจะเป็นมีมานานแล้ว

ดังหลักฐานในปี 2515 ที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ และนายแพทย์จิตต์ เหมะจุฑา ขณะที่เป็นรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหลังจากที่เป็นรูปเป็นร่างแล้วในปี 2517 น่าจะพูดว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยมาตลอดและยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าเก่า

ความพยายามที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขตามรูปแบบที่ตกผลึกมาตั้งแต่ สปช. และ สปท. และประเด็นการปฏิรูปโดยคณะกรรมการปฏิรูป และถูกบันทึกในราชกิจจานุเบกษา เดือนเมษายน 2561 ในการปรับรูปแบบโครงสร้างโดยควบรวมกรม สำนัก และกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่พื้นที่ตามเขตสุขภาพและอื่นๆรวม 4 ด้าน 10 ประเด็น มากกว่า 170 หัวข้อ แท้ที่จริงก็เป็นการทำตามการปรับกระบวนการตั้งแต่ 2515 แต่ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (วันที่ 22 กรกฎาคม 2562) เพราะระบบราชการและข้าราชการในกระทรวงที่เข้มแข็ง แข็งขืน ไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนใดๆทั้งสิ้น

และนี่คือวิกฤติของระบบสาธารณสุขซึ่งก็คงเหมือน กับระบบอื่นๆทั่วประเทศไทย

การปรับปรุงส่วนราชการ พ.ศ.2515 กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหา หลักในการให้บริการสาธารณสุขตามหลัก 5 ประการ คือ 1.การส่งเสริมสุขภาพ 2.การป้องกันโรค 3.การรักษาโรค 4.การฟื้นฟูสมรรถภาพ 5.การเฝ้าระวังโรค หลัก 5 ประการ อันเป็นหัวใจของการสาธารณสุขนั้น ต่างแยกอยู่ในองค์การ ซึ่งเรียกว่ากรมต่างๆ ซึ่งแต่ละกรมก็พยายามดำเนินงานของตัวเองให้เกิดความเป็นเลิศ แต่ยังขาดการประสานงานเพื่อความต่อเนื่องเป็นวงจร ทำให้เกิดอุปสรรคและความขัดข้องนานาประการ โดยเฉพาะบุคลากรประเภทต่างๆที่ขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการในโครงการต่างๆ

...

กระทรวงสาธารณสุขจึงแสดงเจตนารมณ์ที่จะปรับปรุงการจัดรูปแบบทั้งกระทรวง โดยได้ขอให้คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของนายกรัฐมนตรีมาช่วยพิจารณาปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการมาเมื่อครั้งแรกใน พ.ศ.2513 คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารงานของนายกรัฐมนตรี ได้วิเคราะห์การจัดรูปแบบของกระทรวงสาธารณสุข โดยสรุปความเห็นว่า 1.การแบ่งส่วนราชการของกระทรวงในขณะนั้น โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค มีลักษณะแบ่งเป็นลักษณะงาน (Functional Type) คือ ส่วนรักษาแบ่งจากการป้องกัน คือ ต่างกรมต่างไม่ประสานกัน ซึ่งควรจะมีลักษณะเป็นวงจรต่อเนื่องกัน เสริมกำลังกัน แบ่งเบาภาระกัน โดยเฉพาะในการขาดแคลนกำลังบุคคล ในระดับจังหวัดยังขาดการวางแผนร่วมกัน

2.การบริหารงานในแต่ละหน่วยงาน ยังขาดการกำหนดลักษณะงานและหน้าที่ มีผลทำให้เกิด ปัญหางานเกิดการซ้ำซ้อน และ 3.การควบคุมบังคับ บัญชากว้าง ขาดระบบนิเทศงาน ขาดการอบรมให้ทำหน้าที่มีน้ำใจต่องาน...ขาด UNITY OF COMMAND ทำให้คำสั่งงานต้องผ่านหน่วยงานหลายขั้นตอน

ผลงานจึงชักช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ คณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารของนายกรัฐมนตรีจึงเสนอแนวความคิดจัดรูปการบริหารงานเพื่อแก้ปัญหา จึงกำหนดหลักการสำคัญไว้ โดยคำนึงถึงการประสานงานระดับปฏิบัติการ ด้านส่งเสริมสุขภาพ ด้านป้องกันโรค ด้านรักษาโรค ด้านฟื้นฟู และการเฝ้าระวังโรค ซึ่งควรมีรูปแบบ ประกอบด้วย

1.ในด้านนโยบาย และแผนระดับเหนือ อาจจะวางนโยบายที่มีลำดับความสำคัญต่างกัน แผนงานระดับจังหวัด ควรสอดคล้องกันทุกขั้นตอน 2.ในด้านเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ขาดแคลน ควรจัดกลุ่มเจ้าหน้าที่ไว้ในสังกัดเดียวกันเพื่อประสิทธิภาพ มุ่งหวังขจัดความเหลื่อมล้ำ และการรักษาความยุติธรรม ในหมู่เจ้าหน้าที่วิชาชีพ ให้มีความคล่องตัวที่จะโยกย้าย สับเปลี่ยน เสริมกำลัง และจัดการฝึกอบรมในหน่วยปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีความรู้กว้างขวางในลักษณะเวชปฏิบัติทั่วไป และ 3.ในด้านงบประมาณ พัสดุ เวชภัณฑ์ ในท้องถิ่นต่างๆ ควรจะได้ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะเครื่องเวชภัณฑ์ราคาแพง เช่น เอกซเรย์ เป็นต้น

ข้อเสนอทั้งสามประการจากคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารงานของนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในกระทรวง จนถึงเวลาล่วงมาถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 รัฐบาลได้ทำการ ปฏิวัติตัวเอง การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งกระทำโดยคณะปฏิวัติ ได้พิจารณาเห็นว่าการบริหารของกระทรวง ทบวง กรม หลายแห่ง มีข้อบกพร่อง สมควรให้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ยิ่งขึ้น คณะปฏิวัติจึงได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาระเบียบบริหารขึ้นคณะหนึ่ง มีพลตรี สิริ ศิริโยธิน เป็นประธาน

...

ต่อมาได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการพิเศษ ขึ้นอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเอง และบุคคลจากนอกกระทรวงอีกบางคน เพื่อจัดรูปแบบที่เหมาะสมก็ยังไม่สามารถจะตกลงกันได้พลตรี สิริ ศิริโยธิน ซึ่งเป็นกรรมการร่วมกันกับผู้เขียนอยู่ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้ปรารภว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความยากลำบากในการตกลง ปัญหาในการสร้างรูปแบบของกระทรวงที่เหมาะสมได้ จนกระทั่งไกลไปจนปลายเดือนกันยายน 2515 ซึ่งถึงเวลาจะต้องเสร็จสิ้นกำหนดการปรับปรุงส่วนราชการแล้ว เพราะคณะปฏิวัติจะต้องสลายตัว เพื่อแต่งตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศต่อไป คณะปฏิวัติจึงได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ตัดสินชี้ขาดจากบุคคลมีชื่อเสียง 2 ท่าน ในวงการกฎหมาย ร่วมกับปลัดกระทรวงฯ และอธิบดีกรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุข...ในเวลาที่เหลืออยู่ ไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้แบบการจัดการส่วนราชการใหม่ของ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2515 ปรากฏออกมา โดยให้รวมกรมการแพทย์ และกรมอนามัยเข้าด้วยกัน และไม่ให้มีกรมเพิ่ม ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 : 217 ลงวันที่ 27 กันยายน 2515 ผังการ แบ่งส่วนราชการของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 1.สำนักงานปลัดกระทรวง 2.กรมการแพทย์และอนามัย 3.กรมส่งเสริมสาธารณสุข 4.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เวลาได้ผ่านจากวันที่ 27 กันยายน 2515 ถึง 14 ตุลาคม 2516 รัฐบาลต้องลาออก รัฐบาลชุดใหม่ที่ 33 ซึ่งมี ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เข้ามารับหน้าที่ จึงพบกับปัญหาใหญ่เกี่ยวกับโครงสร้างของกระทรวงจึงได้หารือกับท่านปลัดกระทรวง และท่านอธิบดีกรมต่างๆในการพบปะไม่เป็นทางการทุกวันจันทร์ และในการประชุมกระทรวง จากการศึกษาและหารือ พบว่าการปรับปรุงส่วนราชการของกระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216-217 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 นั้น ปรากฏว่า

...

1.กรมการแพทย์และอนามัยมีภาระที่ได้รับกว้างขวางมากมีกองและหน่วยงานเทียบเท่าถึง 23 หน่วย

2.ผู้บังคับบัญชาของกรมมีท่านเดียว จะจัดการดำเนินการให้บังเกิดผลให้ได้ประสิทธิภาพจะกระทำได้ยาก

3.งบประมาณรายจ่ายของกระทรวง สำหรับกรมการแพทย์และอนามัยสูงถึง 1,032.36 ล้านบาทเท่ากับร้อยละ 92.5 ของงบประมาณของกระทรวง

4.มีเจ้าหน้าที่ในสังกัด 33,566 คน หรือเท่ากับร้อยละ 94.69 ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดของกระทรวง

5.ส่วนราชการในภูมิภาคมีสำนักงานในแพทย์ใหญ่ 71 จังหวัด สำนักงานอนามัยอำเภอ 597 แห่ง โรงพยาบาลจังหวัดและอำเภอ 84 แห่ง ศูนย์การแพทย์และอนามัย 248 แห่ง สถานีอนามัยชั้นสอง 2,703 แห่ง สำนักงานผดุงครรภ์ 1,537 แห่ง.

หมอดื้อ