“มาอัมพวา หากหานารี สมดั่งที่หวังมา แม่บ้านแม่เรือนเพื่อนครองวิวาห์ อัมพวาสุขสมบูรณ์...” ระหว่างนั่งเรือหางยาวติดเครื่องยนต์คล้ายเสียงรถตุ๊กๆอยู่กลางคลองอัมพวา อารมณ์พลันนึกถึงเพลง “สาวอัมพวา” ที่ครูธาตรีตั้งใจแต่งให้คือครูเอื้อ สุนทรสนานกับภรรยา

แต่ให้เสียดายภาพเก่าตลาดน้ำอัมพวา ที่เรือชาวบ้านเคยพายเอาพืชสวนมาขาย ทุกวันนี้กลายเป็นตลาดเรือนริมน้ำยามเย็นวันหยุดแทน แล้วปล่อยให้พ่อค้าถิ่นอื่นมาเช่าที่นำสินค้าอะไรก็ไม่รู้มาขายเป็นตลาด “โบ๊เบ๊” ไปเสียนี่?... “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”...คิดได้อย่างนี้จะได้สบายใจ

ว่าแล้วก็นั่งเรือตุ๊กๆไปดูโฮมสเตย์ริมคลองสลับวัด 2-3 แห่งใกล้เคียงกันต่อไป ไม่เกิน 5 นาที เรือก็แล่นเข้า “คลองโรงธรรม” เห็น “ต้นจาก” ยืนอวดลำต้นทะลายติดลูกริมฝั่งเป็นระยะๆ...ช่างน่ารักจัง

เพียงอึดใจเดียวเรือก็เทียบท่ารีสอร์ตชื่อเก๋ “ลำพวา อัมพวา” โดย “ลำ” มาจาก “ลำพู” ต้นไม้ชนิดหนึ่งเจริญพันธุ์ได้ดีในที่ชื้นริมน้ำและหิ่งห้อยชอบมาเกาะเรืองแสง ยามค่ำคืนละแวกนี้

...

ส่วน “พวา” นั้นหมายถึง “อัมพวา” ดังเนื้อเพลง “สาวอัมพวา”...เมื่อสมาสสนธิกันจึงเป็น “ลำพวา” ภาษาอังกฤษเขียนเพิ่ม “L” ตัวเดียวเป็น “Lumphawa” ว่ากันถึงบรรยากาศนั้นสุดแสนจะ “โป๊ะเกินต้าน” เชียวแหละ

ค่ำคืนนี้...“คุณชาย 1” เลือกนั่งตรงระเบียงริมน้ำซีนเนอรีสุดชิลล์ เห็นต้นลำพูริมคลองกลางสายลมพัด ตรงนี้เป็นอาณาบริเวณของห้องอาหารโอเพ่นแอร์ชื่อเก๋ (อีกแล้ว) “ลำพวา ตาสว่าง” โดยชิงปฏิเสธจะนั่งในห้อง “ร่มลำพู” เรือนกระจกติดเครื่องปรับอากาศ

ฉู่ฉี่ปลาทู
ฉู่ฉี่ปลาทู

คนที่เข้ามาทักทายก็ใช่ใครที่ไหนอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่วัยกลางคนที่มีดีกรีมหาบัณฑิตสาขาสถาปัตยกรรมจากออสเตรเลีย ช่วยกันออกแบบรีสอร์ตกับภรรยาดีกรีเดียวกัน แถมเป็นสาวอัมพวาครองวิวาห์ตามเพลง และบริหารงานร่วมกันคือ “ธาม–ฉลวย (อิ๊ด) ภมรานุพงศ์”

ธามเล่าว่าเปิดมา 7 ปีราบรื่นตลอดอัตราเฉลี่ยตลอดทั้งปี 80-85% เป็นกลุ่มสัมมนาจากสถาบันศึกษากับส่วนราชการ ที่ขายได้ทั้งห้องพัก อาหาร ห้องสัมมนาซึ่งรับได้ 20-200 คน มีกลุ่มนักท่องเที่ยว ตลาดอัมพวา กับแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้วก็สวนมะพร้าวน้ำหอมผสมโรง

“แต่พอปี 2563” ธามว่า “ถูกโควิดเล่นงาน ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปพักใหญ่ เพิ่งจะมาดีขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว” ส่วนอาหารขึ้นชื่อสำหรับถิ่นนี้ธามแนะนำน่าจะเป็น “ใบชะคราม”

ยำใบชะครามกุ้งสด
ยำใบชะครามกุ้งสด

คุณชายนึกได้ทันทีใบไม้ที่ว่ามีชื่อเรียกอีกอย่างคือ “ช้าคราม...ชั้วคราม..ล้าคราม” พบได้ที่ “แม่กลอง” สมุทรสงคราม อีกที่ “มหาชัย” สมุทรสาคร เป็นพืชล้มลุกน้ำทะเลขึ้นถึง

“แต่ก่อนชาวบ้านที่นี่...นิยมเด็ดจากริมคันนาเกลือที่ขึ้นเต็มไปหมด เอาไปล้างทำความสะอาดและล้างเค็มก่อน แล้วต้มคั้นความเค็มอีกสองสามครั้ง ถึงไปจิ้มกินกับน้ำพริกปลาทูหรือยำทำแกง คนเก่าๆเล่าว่า...รากเป็นยาบำรุงและดับพิษในกระดูก แก้ฝีภายใน น้ำเหลืองเสีย ผื่นคันโรคผิวหนัง เอ็นพิการ และอีกสารพัด”

...

ธาม เล่าให้ฟังอีกว่า ชะครามเป็นพืชกลิ่นฉุน ถ้าล้างไม่เป็นอาจแพ้กลิ่นเกิดอาการวิงเวียนได้ และหากกินมากเกินไปก็มีสิทธิ์ปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสีย

น้ำพริกปลาทูหน้างอคอหัก
น้ำพริกปลาทูหน้างอคอหัก

นี่เป็นคำเตือน...ก่อนจะลงมือชิมอาหารรสเด็ดคูณสอง นั่นก็คือ “น้ำพริก+ปลาทูหน้างอคอหัก”... สัญลักษณ์แม่กลอง ได้ผักเครื่องเคียงมีข้าวสวยเป็นพื้นปลาทูเป็นเนื้อ น้ำพริกเป็นน้ำกินกับไข่เจียวชะคราม ออเจ้าเอย!...อร่อยจริงๆ ปลาทูเนื้อหนังแน่น เพราะว่ายน้ำมาไกลจากทะเลอ่าวไทยหมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี

น้ำพริกก็รสดีเด็ด เผ็ดพริกขี้หนูแต่หอมกะปิที่น้ำใสสีชมพูเรื่อส่งตรงมาจาก “เคยภูเก็ต”

เมนูพาเหรดตามมาเรื่อยๆ “ยำปลาทู” แกะเนื้อทิ้งก้างยำกับตะไคร้ หอมแดงซอย ใส่พริกขี้หนู มะนาวเอาน้ำ มะกรูดเอาผิว โรยสะระแหน่ รสชาติถูกปาก...ตามด้วย “ปลาทูทอดน้ำปลา” มาเผ็ดอีกครั้งกับ “ฉู่ฉี่ปลาทูหน้างอคอหัก”...“คั่วกลิ้ง” ผักสดใบชะคราม...“แกงเหลืองปลากะพงมะละกอ” ใบชะคราม

แกงเผ็ดเนื้อมันขี้หนู อร่อยเด็ดริมน้ำ
แกงเผ็ดเนื้อมันขี้หนู อร่อยเด็ดริมน้ำ

ไหนๆก็ไหนๆ...เมื่อมาเจออาหารปักษ์ใต้บ้านเราในถิ่นแม่กลอง ก็ต้องเลือกตรงรี่ไปกับเมนูที่เห็นเตะตาเต็มประตูนั่นก็คือ “แกงเผ็ดหมูปักษ์ใต้ใส่กล้วยดิบ” ย้ำว่าเมนูนี้ครัว “อัมพวา ตาสว่าง” อาศัยความได้เปรียบเรื่องรสชาติโดยสั่งเครื่องแกงตรงจากปักษ์ใต้ขนานแท้ 100%

“เริ่มจากใช้เครื่องแกงผัดกับหัวกะทิ พอเห็นว่ากะทิกับเครื่องแกงเข้ากันดีแล้วถึงค่อยใส่หางกะทิตามลงไป จากนั้นใส่เนื้อหมูที่หั่นเป็นชิ้นรอไว้ก่อน พอเห็นว่าน้ำแกงเริ่มเดือดจึงใส่เนื้อหมู สุดท้ายใส่กล้วยดิบที่ฝานเป็นชิ้นเหมือนบวบ เอาแค่กล้วยอมน้ำแกงแค่นั้นพอ กล้วยจะได้กรอบ”

เคล็ดลับที่สำคัญ...ถ้าจะให้ดีต้องกล้วยเล็บมือนางเพราะขนาดเล็กอมน้ำแกงได้ดีกว่ากล้วยน้ำว้า

...

เอาล่ะครับเมนูนี้พอจ้วงเข้าปากคำแรก...ก็พลันได้พบคำตอบแบบทันควันทันที รสชาตินั้นเผ็ดเข้มข้น หอมยี่หร่ารสร้อนแรง ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา ตามพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน ของล้นเกล้า รัชกาลที่ 2 ขึ้นมาทันที...รสดีเด็ดเผ็ดน้ำแกงแต่กรอบละมุนด้วยเนื้อกล้วยดิบอร่อยสุดๆ

แล้วก็มาถึงอีกเมนูเด็ดโดนใจไม่แพ้กัน “แกงเผ็ดเนื้อปักษ์ใต้ใส่มันขี้หนู” โอ้โหใช้เครื่องแกงครกเดียวกันแต่ใช้มันขี้หนูแทน ซึ่งเนื้อกรอบและยุ่ยกว่า กระนั้น...ก็เผ็ดครือกัน แล้วก็อร่อยโดนใจเว่อร์วังอลังการ

ปิดท้ายกันตรงนี้ “อัมพวา ตาสว่าง” มีเมนูเลือกกินทั้งไทยและเทศ ราคาเริ่มต้น 20-150-220 บาท เปิด 7 โมงถึง 10 โมงเช้า 11 โมงพัก 3 โมงเย็น 5 โมงเย็นชมหิ่งห้อยถึง 4 ทุ่ม

ติดต่อสอบถาม จองที่นั่งได้ที่เบอร์ 08– 7697–5369...จะสัมมนาหรือเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา แล้วอยากกินแกงอร่อยๆขึ้นมา เชิญได้ ที่...“ลำพวา ตาสว่าง” กันนะครับ.

คุณชาย 1