สเต๊ก เมนูอาหารฝรั่งที่ได้รับความนิยมของชาวไทยมานาน มีทั้งสเต๊กหมู เนื้อ ไก่ และปลา

ทุกวันนี้มีร้านสเต๊กขายกันดาษดื่นตามริมถนน ตลาดสด ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ตีคู่มากับร้านขายอาหารไทย เช่น ร้านส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ต้มเลือดหมู ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่

ร้านสเต๊กแบบไทยๆ จะเสิร์ฟสเต๊กคู่กับมันฝรั่งทอด ไส้กรอก ขนมปังปิ้ง สลัดผัก ผักต้ม ขึ้นอยู่กับว่าคนทานมีรสนิยมชอบทานคู่กับอะไร

ทว่า วันนี้ท่านที่ชอบทานสเต๊กอาจต้องระวังไว้บ้าง เพราะอาจเป็นไปได้ว่าสเต๊กที่ท่านทานอยู่นั้นอาจมีสารปฏิชีวนะตกค้างได้ แล้วตกค้างได้อย่างไร?

ในการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว เกษตรกรบางรายอาจมีการใช้ยาปฏิชีวนะในขณะเลี้ยงเพื่อรักษาและป้องกันโรค หรือเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ซึ่งหากใช้ปริมาณมากๆ หรือใช้เกินความจำเป็น หรือใช้ไม่ถูกหลักที่เหมาะสม จะทำให้มีสารปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ เช่น ไข่ นม ที่เรานำมาปรุงเป็นอาหารทานได้

เมื่อเราได้รับสารปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอันตราย เช่น เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยารุนแรงในรายที่มีการแพ้

และหากเป็นการตกค้างของยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้รักษาโรคในคน เช่น เตตระไซคลิน คลอร์เตตระไซคลิน อาจทำให้ร่างกายสร้างเชื้อที่ดื้อยาชนิดนี้ขึ้นมา ทำให้เมื่อใช้ยาชนิดนี้รักษาโรคจะไม่ได้ผล หรือทำให้เกิดการดื้อยานั่นเอง

สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างสเต๊กไก่ 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ และนนทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์เตตระไซคลิน, ออกซิเตตระไซคลีน และเตตระไซคลิน

ผลปรากฏว่า ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด ในสเต๊กไก่ทั้ง 5 ตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว คนกรุงเทพฯคงทานสเต๊กไก่กันได้อย่างสบายใจ.

...

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย