ดูเหมือนจะอิงกระแส ออเจ้า...กันทั่วทุก หัวระแหง จนแทบจะกลายเป็น สงกรานต์ออเจ้า ...ไปเสียแล้วสงกรานต์นี้ไปไหนกันดี...? เพราะทุกจังหวัดต่างจัดงานเทศกาลสงกรานต์ชุ่มฉ่ำกันถ้วนหน้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ : Amazing Songkran 2018” เพื่อสืบสานประเพณี อัตลักษณ์วิถีไทย สร้างความโดดเด่นและกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศ แถมพ่วงด้วยการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ใน 5 เมืองรอง เชิญชวนให้คนไทยแต่งชุดไทยไปเที่ยว

เริ่มกันที่ สิงห์บุรี ที่มาในธีม เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วม “นุ่งโจง ห่มสไบ เล่นน้ำแบบไทยๆ ณ สิงห์บุรี” โดยแต่งกายแบบบ้านบางระจัน พร้อมกิจกรรมในรูปแบบประเพณีโบราณ ตลาดย้อนยุค เล่นน้ำสงกรานต์โดยใช้กะลา และชมการแสดง “น้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ในตำนาน สู่มหาสงกรานต์บ้านระจัน” ส่วน จันทบุรี จัดงาน “มหาสงกรานต์ตะปอน ตำนานแห่เกวียนผ้าพระบาท จันทบุรี” เชิญชวนนักท่องเที่ยวชมพิธีโบราณการสวดและขบวนแห่เกวียนผ้าพระบาทที่สวยงาม กิจกรรมชักเย่อเกวียนผ้าพระบาท ก่อเจดีย์ทรายและชิมอาหาร “ร้อยรส-พันอย่าง”
...

ขึ้นไปภาคอีสาน เปิดตำนาน “สงกรานต์ ดีโน่สินธุ์ถิ่นคน น่ารัก” ในแนวคิด “น้ำมีวันหมด ใช้ทุกหยดอย่างรู้ค่า-ซิด แทน สาด” ที่ กาฬสินธุ์ พบกับศิลปิน “วงแพรวา จีจี้” ลูกหลานชาวกาฬสินธุ์ ที่มาช่วยสร้างสีสันให้กับงานสงกรานต์ปีนี้ ขึ้นเหนือไปที่ กำแพงเพชร จัดงาน “สงกรานต์มงคล ก่อพระทรายน้ำไหล ยิ่งใหญ่พวงมโหตร” เชิญชวนนักท่องเที่ยวชมเกาะกลางแม่น้ำปิง และร่วมชมความงามพวงมโหตรที่ตกแต่งสะพานสู่เกาะกลาง ยังมีอุโมงค์มงคล ซึ่งมีน้ำ มนต์ศักดิ์สิทธิ์จาก 9 วัดสำคัญ ส่วนภาคใต้ เชิญไป นครศรีธรรมราช ร่วมงาน “เทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนครศรีธรรมราช” ชมความงาม ตระการตา แสง สี เสียงในขบวนแห่นางดาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพิธีโล้ชิงช้า และร่วมชมความงามการรำเสนง ฟ้อนรำที่หาชมได้ยาก มีเฉพาะที่นครศรีธรรมราชเท่านั้น พร้อมเสริมสิริมงคลในพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 แหล่ง

ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ก็มีกิจกรรมงานสงกรานต์กันแบบเก๋ไก๋ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลแห่ค้างดอกไม้ ที่ อ.บ้านไร่ อุทัยธานี งานสงกรานต์ นครสวรรค์ ที่มีทั้งงานบุญข้าวแช่ งานประเพณีบุญสงกรานต์เมืองสี่แคว วิถีไทย วิถีพุทธ ส่วนที่ บุรีรัมย์ จัดงาน บุรีรัมย์ สงกรานต์ คานิวัล วกกลับเข้า เพชรบูรณ์ มีงานแต่งกายไทย พูดโบราณ เล่นสงกรานต์เพชรบูรณ์

ขึ้นเหนือไป ลำปาง งาน สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง ก็สนุกสนานไม่แพ้ที่อื่น เช่นเดียวกับสงกรานต์เมือง แพร่ สงกรานต์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เน้นแต่งกายหม้อห้อม เล่นน้ำทั้งเมือง จังหวัด เลย จัดประเพณีสงกรานต์งานแห่ต้นดอกไม้บ้านแสงภา ส่วนที่ น่าน เมืองครีเอทีฟ ทัวริสซึม จัดงานแต่งไทยไปเที่ยวน่าน และอีกหลากหลายกิจกรรมทั่วไทย ในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย ซึ่งแต่ละภาคก็จะธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างสงกรานต์ล้านนา ที่เรียกว่า “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” สงกรานต์อีสาน หรือ งานบุญเดือนห้า สงกรานต์ภาคกลาง นับวันที่ 13 เป็น “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” ส่วนวันที่ 15 ก็เป็น “วันเถลิงศก” ในสามวันนี้ผู้คนจะทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และทำความสะอาดบ้านเรือนต้อนรับปีใหม่
...

ที่น่าสนใจคือประเพณี “อุ้มสาวลงน้ำ” ที่เกาะสีชังและเกาะขามใหญ่ ชลบุรี เลยไปถึงวันไหลที่บางแสน ส่วน “สงกรานต์พระประแดง” ที่สมุทรปราการก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นสงกรานต์ตามวิถีชาวมอญ มีทั้งการกวนกะละแม การทำข้าวแช่ การเล่นสะบ้า และการแห่ปลา สุดท้าย สงกรานต์ภาคใต้ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” จะมีการลอยเคราะห์ลงแม่น้ำ
ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นวิถีแห่งความเป็นไทย...ที่เป็นเอกลักษณ์ยิ่งใหญ่ไม่เหมือนชาติใดในโลก.