สัญญาณ “ฤดูแล้ง” เริ่มเข้าสู่ “ประเทศไทย” มีแนวโน้มยาวกว่าปกติชัดเจนมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2564 ลักษณะสภาพอากาศหนาวเย็นนาน และการขาดแคลนน้ำ ทำให้ไม่มีน้ำไล่น้ำทะเลหนุน ผ่านเข้าระบบผลิตน้ำประปา “กรุงเทพฯ” มีระดับความเค็มสูง

สาเหตุจาก “ปริมาณน้ำต้นทุนฤดูแล้งปี 2563/64 น้อย” ตามสภาพน้ำในวันที่ 25 ก.พ.2564 “เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์” มีปริมาณน้ำ 9,597 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ในจำนวนนี้น้ำใช้งานได้ 2,947 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 18 ลักษณะน้ำน้อยเช่นนี้ต้องเก็บไว้ใช้ “หน้าแล้ง” ในการระบายน้ำจึงปล่อยได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

แต่ว่า “การใช้น้ำกลับมากกว่าแผนกำหนด” ทำให้ “ผู้อยู่ต้นน้ำ” ดักน้ำไปใช้ในพื้นที่ตนเอง ส่งผลให้ “ไม่มีน้ำเพียงพอ” มาถึงพื้นที่ปลายน้ำได้นี้ โดยเฉพาะ “ลำคลองสาขาพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก” กำลังต้องเผชิญ “ขาดแคลนน้ำเลี้ยงข้าวนาปรังที่กำลังตั้งท้องออกรวง” มีความจำเป็นต้องใช้น้ำอันเป็นปัญหาเร่งด่วน

...

ต้องสูบน้ำจาก “คลองแสนแสบ” ลำเลียงผ่านคลองสาขา ในบางจุดประชาชนรวมเงินกันซื้อเครื่องสูบน้ำ ทำคันกั้นน้ำ สูบเข้าคลองสาขาต่อเข้าแปลงนา กลายเป็นการแย่งชิงน้ำกันขึ้น เหตุนี้ ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่แทบทุกวัน

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และแก้ไขปัญหาระยะยาว ตั้งแต่ “เขตคลองสามวา” ติดตามการขุดลอกคลองสี่ตะวันออก เชื่อมระหว่างคลองแปด คลองเก้า ความยาว 2.5 กม. ทำให้สามารถสูบน้ำเข้านาได้

ก่อนเดินทางไปยัง “เขตหนองจอก” ดูการก่อสร้างทำนบปากคลองสอง เชื่อมคลองลำปลาทิว ในการสูบน้ำจากคลองลำปลาทิวเข้าคลองสอง ไหลผ่านพื้นที่เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง และไปยัง “เขตลาดกระบัง” ดูงานทำนบคลองลำอ้ายแบนด้านคลองทับยาว ที่กำลังนำรถขุดลอกเข้ามาขุดลอก

และก่อสร้างทำนบติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากคลองทับยาวเข้าคลองลำอ้ายแบน ไหลลงไปรวมกันที่คลองตาสอน สูบน้ำต่อเนื่องระดับน้ำสูงขึ้น 40-50 ซม. แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับ 3 พื้นที่นี้

การนี้ “รองผู้ว่าฯ” ยังได้ให้สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตลาดกระบัง ก่อสร้างทำนบในคลองต่างๆ เช่น คลองเจ๊ก คลองลำมะละกอ คลองตาเกษม ใช้กักเก็บน้ำในฤดูแล้งอย่างยั่งยืนด้วย

จบภารกิจด้วย “คลองพิพัฒน์ สีลมซอย 3” แก้ไขปัญหาน้ำเสียกลิ่นเหม็น สาเหตุเป็นคลองรับน้ำเสียก่อนเข้า “ระบบบำบัดน้ำเสีย กทม.” ที่ไม่ได้ลอกดินเลนนานจนสะสมตะกอนดินสะสมหนา 50 ซม. ทำให้ต้อง “ลอกเลนใหม่” ทำนบไม่ให้น้ำเสียไหลเข้าชุมชน พร้อมขยายทางเดิน 100 เมตร ให้คนสัญจรเข้าออกสะดวกขึ้น

รองฯศักดิ์ชัย บอกว่า ปัญหา “ระบบน้ำ กทม.” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก...“พื้นที่ตอนใน” มักเกิด “น้ำท่วม” จากระบบท่อระบายออกแบบมา 30-40 ปีที่แล้ว ถ้าเฉพาะ “น้ำฝน” ระบบท่อระบายรองรับได้ แต่กลับมีปริมาณน้ำจากตัวชุมชน ถูกปล่อยน้ำสู่ระบบท่อระบายน้ำพร้อมกันมหาศาล จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมตามมานี้

อีกปัญหา คือ “น้ำเสีย” เกิดจาก “น้ำครัวเรือน” ปล่อยลงคลองโดยตรง ทำให้ “น้ำเสีย และน้ำฝน” ไหลมารวมกันในคลองเป็นมวลน้ำเสียมาก ส่งผลให้ระบบไม่สามารถดูดน้ำเข้าการบำบัดได้ทั้งหมด ถ้ามีการแยก “น้ำครัวเรือน” แต่ต้นก็จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ดีกว่านี้

...

เรื่องนี้ “ประชาชน” ต้องมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน เช่น “คลองยายสุ่น” เคยเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ส่งผลให้มีสภาพคลองเสื่อมโทรมมาก จึงมีการก่อสร้างท่อ PVC ขนาด 40 ซม. ความยาว 1,600 เมตร รวบรวมน้ำเสียไปโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ทำให้น้ำในคลองมีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตอนนี้ “รัฐบาล” ก็ได้มอบหมายให้ กทม.ดำเนินงานฟื้นฟูคลองแสนแสบ ความยาว 45.5 กม. ที่มีคลองสาขาเชื่อมต่อ 101 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 21 เขต ตามเป้าหมายปี 2563-2566 แต่งานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจออุปสรรคสารพัดจากการปล่อยปัญหาน้ำเสียทิ้งไว้นานมากเกินไป

ไม่เท่านั้นถ้าจะทำให้ “น้ำคลองแสนแสบใส” ต้องเคลียร์คลองเชื่อมต่อ 101 สาย ให้มีคุณภาพน้ำดีก่อน ในการนี้เบื้องต้นสั่งให้ 21 เขต เร่งดำเนินการจัดการคลองย่อยเชื่อมให้สะอาดแล้วค่อย “ฟื้นฟูคลองแสนแสบ” ที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะ “น้ำเสียคลองแสนแสบ” ส่วนใหญ่มักมาจาก “คลองเชื่อม” แทบทั้งสิ้น

วันนี้การทำคลองน้ำใสใช้หลักระบบแม่น้ำไล่น้ำเสียออกไปสู่ “คลองหลัก” ที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ถูกนัก แต่ที่ถูกควรนำน้ำเสียเข้าบำบัดพื้นที่ตัวเอง หรือผลักดันออกทะเลจะดีที่สุด

...

ถัดมาส่วนที่สอง...“กรุงเทพฯฝั่งตะวันตก หรือพื้นที่ฝั่งธนบุรี” มักเผชิญ “น้ำทะเลหนุนสูง” เข้าท่วมสิ่งปลูกสร้างชาวบ้าน อีกทั้งยังส่งผลกระทบ “ปลาเลี้ยงกระชังตาย” และ “พืชผลการเกษตร” ได้รับความเสียหาย สาเหตุจากมีพื้นที่บางส่วนที่น้ำเคยเข้าไหลเข้าท่วม ถูกปรับเปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางนั่นเอง

ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิด “การสร้างเขื่อนอ่าวไทย” เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากกรณีน้ำทะเลสูงขึ้น ป้องกันน้ำท่วม กทม. สุดท้ายโครงการนี้ก็เงียบหายไป แต่กลับต้องมาเสียงบประมาณปีละหมื่นล้านบาท ในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าป้องกันน้ำท่วม การป้องกันน้ำเค็มที่ไม่มีวันจบสิ้นด้วยซ้ำ...

ส่วนที่สาม...“พื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก” ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 140,000 ไร่ เช่น เขตหนองจอก มีพื้นที่ทำนา 90% ลาดกระบัง 80% คลองสามวา 80% ในทุกปีมักเผชิญ “ปัญหาขาดแคลนน้ำ” ทำให้ “ข้าวนาปรัง” ไม่ได้ผลผลิตที่ควร โดยเฉพาะปี 2564 ต้องเจอ “คลองตื้นเขินแห้งขอด” ตั้งแต่เดือน ม.ค. ทำให้ชาวนาต่างขาดน้ำหนัก

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก...“เกษตรกรอยู่ต้นน้ำกักเข้าไร่ตัวเอง” สังเกตตามคลองส่งน้ำชลประทาน มีเครื่องสูบถูกติดตั้งไว้ตลอดแนว ทำให้คลองปลายน้ำไม่มีน้ำไหลลงมาถึงได้ กลายเป็น “ความเดือดร้อนคนปลายน้ำ” ส่งผลกระทบพืชผลแห้งเหี่ยวใกล้ตายจำนวนมาก ในบางครั้งก็เกิดการทะเลาะแย่งชิงน้ำกันขึ้นอยู่บ่อยๆ

ดังนั้นต้องขอความร่วมมือ “เกษตรกรต้นน้ำ” รอให้น้ำไปถึง “ปลายน้ำก่อน” เพื่อได้สูบน้ำพร้อมกัน

...

“สถานการณ์ภัยแล้งในกรุงเทพฯรุนแรงกว่าหลายปี เพราะ “น้ำไม่มี” มาตั้งแต่เดือน ก.พ. ทำให้ข้าวรอเก็บเกี่ยวอีก 2 เดือนใกล้ตาย หลายพื้นที่ต้องเร่งดึงน้ำจากคลองสายหลัก เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร เขตคลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นการเร่งด่วนไปก่อน” ศักดิ์ชัยว่า

ตอนนี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” ก็อนุมัติงบ 20 กว่าล้านบาท “ขุดลอกคลองใหม่” เช่น เขตลาดกระบัง 50 แห่ง หนองจอก 95 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่กักเก็บน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำดึงน้ำจากคลองสายหลัก เข้าคลองย่อยไปพื้นที่ทำนา “ฝั่งตะวันออก” สูบน้ำจากคลองสายหลัก เช่น คลองลำปลาทิว คลองประเวศบุรีรมย์ เข้าสู่คลองสาขาย่อย

ในการแก้ไขสถานการณ์ชั่วคราวในปีนี้ ส่วนปี 2565 จะทำแผนขุดลอกคลองใหม่ ให้แต่ละคลองมี “แก้มลิงกักเก็บน้ำ” ไว้เป็นช่วงๆ เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนขณะนี้

จริงๆแล้ว...“ปัญหาภัยแล้ง” มักเกิดจากระบบบริหารจัดการน้ำไม่ดี ที่ไม่มีวิธีแนวคิดกักเก็บน้ำ เพราะทุกคนต่างกลัว “น้ำท่วมซ้ำปี 2554”
นับแต่นั้นก็ “ไม่มีคนกล้าเก็บน้ำ” ทำให้แต่ละปี “ปริมาณน้ำฝน 100%” ถูกปล่อยทิ้ง 80% กักเก็บไว้เพียง 20% จำนวนนี้ต้องนำมา “ไล่น้ำเค็มทะเลหนุนด้วย” ไม่ให้เข้าระบบผลิตน้ำประปาได้

เช่นนี้ย่อมส่งผลให้ “ปริมาณน้ำค่อนข้างจำกัด” ไม่สามารถมีน้ำเพียงพอลงมาถึง “พื้นที่ปลายน้ำ” ในการใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค และไล่น้ำทะเลหนุนได้ด้วยซ้ำ ในอนาคตอาจต้องหาพื้นที่ว่างเก็บไว้ ในเส้นทางระหว่างการปล่อยน้ำจากภาคเหนือลงมาสู่ทะเล “1 หมู่บ้าน 1 อ่างเก็บน้ำ” เพื่อให้มีระบบน้ำใช้หน้าแล้งนี้

และแบ่งน้ำบางส่วนเข้าไป “เก็บตามคลองสาขาย่อย” เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง อาจทำให้มีน้ำเพียงพอต่อ “การไล่น้ำเค็ม” และใช้หล่อเลี้ยงระบบอื่นๆก็ได้

ย้ำเตือน...“เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา” ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจาก “อากาศหนาวเย็น” ยาวนานกว่าปกติ ทำให้ปีนี้ “แล้งขาดแคลนน้ำยาว” ดังนั้น “อย่าฝืนเพาะปลูกข้าวนาปรัง” ก่อนดูสถานการณ์น้ำ เพราะอาจได้ไม่คุ้มเสีย.