การใช้แอลกอฮอล์เป็นยาในรูปของไวน์ เบียร์ ยังมีต่อเนื่องมาตลอด แม้แต่โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนจนถึงศตวรรษที่ 18 โดยที่ระยะหลังเริ่มรับรู้ถึงประโยชน์และโทษซึ่งขึ้นกับปริมาณ

ทั้งนี้ การที่ให้ตระหนักถึงปริมาณได้มีการชี้ให้เห็นตั้งแต่สมัย Paracelsus (1493-1591) มาก่อน แต่ถึงกระนั้นในยุคนั้นยังมีการใช้แอลกอฮอล์เป็นยาเช่น David Hume มีอาการสติแตกยังได้รับการรักษาด้วยสูตรตำรับ “ชาวบ้าน” มีเครื่องยาเป็นแอลกอฮอล์ และน้ำโทนิคยังเป็นสูตรให้เด็กๆที่ไม่สบายในสมัยนั้น

ต่อมาสูตรเครื่องดื่ม-ยา มีคู่แข่งเป็นชาจากเอเชียจัดเป็นของ “มหัศจรรย์” ใหม่ แต่แม้จะมีคู่แข่ง ความที่สามารถปรับรสปรุงสูตรได้มากหลายจนเกิดตำรับ น้ำกลั่น “จูนิเปอร์” (Juniper) มาจากเจนิวา หรือ “จิน” (Gin) นั่นเอง และใช้ในอังกฤษรักษาอาการทางกระเพาะ โรคเกาต์ นิ่วในถุงน้ำดี โรคตับ ไต หัวใจ

ทั้งนี้เป็นจากการที่กษัตริย์วิลเลียมแห่งออเรนจ์นำจากฮอลแลนด์ บันทึกของหมอไอริช ดร.Robert Bentley Todd ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่ King’s College ลอนดอน กล่าวว่า จินช่วยเสริมกระบวนการให้หายป่วยตามธรรมชาติ

ความที่จินหาง่ายและราคาถูกจึงเกิดการติดกันมหาศาล เกิดวิกฤติทางระบบสุขภาพ (เทียบกับการแพร่ระบาดของการใช้เฮโรอีนในสมัยนี้) จนกระทั่งมีกฎบัตรปี 1736 (Gin Act) ออกมาควบคุมภาษีและนโยบายเข้มงวดเลยทำให้ปรากฏการณ์เห่อติดนิยม “จิน” ค่อยทุเลาลงบ้าง

...

คราวนี้ข้ามมาทางฝั่งฝรั่งเศส ตำรับใหม่เจิดจรัส “นางฟ้าเขียว Absinthe” โดยอาจจะเสกสรรค์โดยหมอชาวสวิสในประเทศฝรั่งเศส หมอ Pierre Ordinaire ในปี 1792

นางฟ้าเขียวมีแอลกอฮอล์ 45-74% เป็นขนาด 120-Proof คำว่า Proof เป็นการวัดปริมาณของแอลกอฮอล์ในสุราตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 ของอังกฤษ โดยใช้ดินปืนเป็นตัวทดสอบ ดินปืนจะไม่ไหม้ในรัมที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์โดยปริมาตรหรือ Alcohol by volume (ABV) น้อยกว่า 57.15% และให้ถือว่ารัมนั้นเท่ากับ 100 ดีกรี Proof (ถ้าสูงกว่า 100 จะเก็บภาษีแพงขึ้น) นางฟ้าเขียวระบาดระบือในสังคมปาริเชียนชั้นสูงในศตวรรษที่ 19 และมาใช้บำบัดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย พยาธิในลำไส้ โรคปวดข้อ ปวดท้องคลอด นางฟ้าเขียวถูกแบนทั่วยุโรปในต้นศตวรรษที่ 19 จากการที่เกิดอาการ “Absinthism” สั่น ชัก ภาพหลอน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นอาการทางสมองจากพิษของแอลกอฮอล์และการขาดแอลกอฮอล์กะทันหัน

ตอนนี้มาถึงฝั่งสหรัฐฯ Mint Juleb ซึ่งน่าจะเป็นต้นตระกูลของค็อกเทล มีส่วนผสมของมิ้นท์ และวิสกี้ สรรค์สร้างจากทางใต้ของประเทศราวศตวรรษที่ 18 คือเป็นโอสถรักษาทุกสภาวะและเป็นเครื่องดื่มประจำ เหมาะกับสภาพอากาศทางใต้ นอกจากนี้ที่เป็นที่นิยมยังมีหลากหลายเช่น Parker’s tonic (42% แอลกอฮอล์), ดร.Hoofland’s German Bitters (26%) ดร.Kaufmann’s Sulphur Bitters (26%) Whiskol (28%) Colden’s Liquid Beef Tonic (27%) Lydia E. Pinrham’s Vegetable Compound เป็นต้น

ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองของอเมริกา ความที่หยูกยารักษาโรคไม่มีจึงเป็นที่มาของบรั่นดี พันช์ เอ็ก–น็อก (Eggnog) มารักษา ช็อก เป็นลม งูกัด และต่อเนื่องเป็นการติดสุรา จนเกิดมีการเคลื่อนไหวต่อต้าน และให้ละเว้นสิ่งสุราเสพติด โดยมีการก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1808 (สหรัฐฯ) ปี 1817 (อังกฤษ) 1818 (สวีเดน) 1820 (ไอร์แลนด์) 1836 (นิวซีแลนด์) ทั้งนี้ ในระยะแรกเป็นการต่อต้านสุราแรงดีกรี และยอมให้กับเบียร์ ไวน์ จนระยะหลังต่อต้านแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การเอาแอลกอฮอล์มาใช้เป็นยาทางการแพทย์เริ่มเสื่อมความนิยมไป แต่ยังนำมาใช้เป็นการรักษาช่วงไข้หวัดใหญ่สเปนลามโลกและปอดบวม เนื่องจากไม่รู้จะรักษาได้ยังไง

แอลกอฮอล์ถูกแบนเด็ดขาดในหลายประเทศ เช่น ในรัสเซีย (1916-1917) นอร์เวย์ (1919-1927) ฟินแลนด์ (1916-1932) และในสหรัฐฯ (1920-1933) ผลของการห้ามเด็ดขาดรุนแรงทำให้ในสหรัฐฯเอง หมอซึ่งได้รับอนุญาตให้สั่งจ่าย “ยาวิสกี้” (Medicinal Whisky) ได้ 100 ครั้งต่อ 3 เดือน เลยเป็นทางออก และทำให้ยอดวิสกี้สูงถึง 1.8 ล้านแกลลอนในช่วงปี 1927 เป็นที่ชัดเจนว่ากฎหมายแบนเหล้า ห้ามดื่มเด็ดขาดยังไม่สามารถหยุดยั้งชะลอได้ แต่อย่างไรก็ตามการที่เคยมีกฎหมายแบนเหล้าประกอบกับการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในยุคศตวรรษที่ 20 ถึงผลทางด้านลบ ทำให้แอลกอฮอล์ถูกมองเป็นสิ่งที่ต้องห้าม น่าเกลียด น่ารังเกียจ น่ากลัว โดยละเลยความเป็นมาและความล้มเหลวในการสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด

ในบทความนี้จบลงด้วยว่า...แล้วหลักฐานที่ว่าแอลกอฮอล์ช่วยปกป้องหัวใจจากการดื่มพอเหมาะพอดี (ชาย 3 หญิง 2 แก้ว โดยเฉพาะไวน์) และการที่ดื่มเพื่อสังคม เพื่อนฝูง ชนแก้ว 2 แก้ว ควรต้องนำมาพิจารณาหรือไม่

เรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับสุรา เมรัย ทั้งหลายดูท่าทางคงจะไม่ยุติง่ายๆ และคงควบคุมไม่ได้ง่ายๆอย่างโฆษณาห้ามหรือออกกฎหมายห้ามเท่านั้น.

...


หมอดื้อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง