ส้มชนิดนี้ นิยมปลูกเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ของประเทศไทยมาแต่โบราณแล้ว ส่วนใหญ่ชาวบ้านนิยมกินใบอ่อนสดมากกว่ากินเนื้อในของผลสุกเพราะรสชาติไม่อร่อยนัก ใบอ่อนมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเยอะ ทำให้มีกลิ่นหอมแรงแตกต่างจากกลิ่นหอมของใบต้นส้มหรือใบมะนาวทั่วไป ชาวใต้กินใบอ่อนสดเป็นผักกับขนมจีนใต้ แกงเผ็ดและแกงไตปลา เป็นต้น ใบมีกลิ่นหอมขึ้นจมูกอร่อยมาก และยังทำให้ผายลมดีอีกด้วย ซึ่งในยุคสมัยก่อนใบอ่อนเด็ดขาย 10–15 ใบ 3–5 บาท ปัจจุบันไม่มีขายแล้ว ส่วนการพิสูจน์ว่าต้นไหนคือต้น “ส้มแป้นขี้ม้า” คือจะต้องเด็ดเอาใบอ่อนขยี้ดมจะมีกลิ่นหอมแรง และทำให้อยากเอาใบดังกล่าวเข้าปากเคี้ยวกินทันทีเมื่อได้สูดดม สำหรับเนื้อในของผลสุกจะมีรสชาติหวานปนเปรี้ยว จึงไม่นิยมกินเนื้อผลตามที่กล่าวข้างต้น

ส้มแป้นขี้ม้า มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ยืนต้น สูง 3-5 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงกลมกว้าง ใบเป็นใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดียว ออกเรียงสลับคล้ายใบมะนาวและมีขนาดใกล้เคียงกันด้วย ปลายใบแหลม โคนใบสอบป้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนใบสีเขียวอ่อน ใบแก่สีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบมีต่อมน้ำมันหอมระเหยกระจายทั่ว ทำให้มีกลิ่นหอมชื่นใจ รับประทานเป็นผักสดอร่อยมากตามที่ระบุข้างต้น ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด กลีบดอกเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมเย็นเหมือนกับกลิ่นดอกส้มทั่วไป “ผล” กลมแป้นคล้ายส้มจีน แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ผลเมื่อโตเต็มที่ประมาณผลส้มทั่วไป รูปทรงของผลจะดูเหมือนกับก้อนขี้ม้าจริงๆมาก จึงถูกเรียกชื่อว่า “ส้มแป้นขี้ม้า” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผลสุกเป็นสีเหลือง รสชาติหวานปนเปรี้ยว ไม่นิยมรับประทานเนื้อผล มีเมล็ด ติดผลช่วงฤดูร้อน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง เหมาะจะปลูกอนุรักษ์ก่อนจะสูญพันธุ์ หรือปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ตามที่กล่าวข้างต้นอร่อยคุ้มค่ามาก

...

เคยมีต้นขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ โครงการ 21 แผง “คุณพร้อมพันธุ์” ปัจจุบันจะมีขายหรือไม่ต้องสอบถามกันเองครับ.

“นายเกษตร”