พูดถึง “แก้มลิง” คนในพื้นที่ลุ่มภาคกลางมักจะคิดถึงแหล่งพักน้ำเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากอุทกภัย แต่คนที่ราบสูงอีสานมองในมุมตรงข้าม เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

นับเป็นเรื่องน่ายินดี แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผลงานของรัฐบาลชุดนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาแนวทางสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับเกษตรกรภาคอีสาน ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำโดยการนำน้ำก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ มอบนโยบายให้กรมชลประทานพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติที่อยู่ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลยลงมาถึงมุกดาหาร จำนวน 30 แห่ง ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากเดิมทีถึงฤดูแล้ง แก้มลิงเหล่านี้แทบจะไม่มีน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ แต่ปีนี้แก้มลิงทั้ง 30 แห่ง อุดมไปด้วยน้ำ ด้วยผลงานของทหารช่างและกรมชลประทาน ที่พร้อมใจกันสนองนโยบายเร่งด่วน ทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน มีน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ในหน้าแล้งเพิ่มขึ้นถึง 12.77 ล้านคิว

“ภาคอีสานค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำมาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่อำนวยให้สร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดกลางและใหญ่ ประกอบกับพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน ปริมาณฝนน้อย ไม่เหมือนพื้นที่ด้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขงจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า ฉะนั้นแผนขั้นต่อไปในการนำน้ำก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ จะต้องหาวิธีเก็บน้ำไว้ในลำน้ำให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เสนอให้สร้างอาคารบังคับน้ำกั้นลำน้ำ แต่หนทางนี้อาจต้องใช้เวลานาน เพราะต้องทำกั้นลำน้ำหลายแห่ง เนื่องจากแม่น้ำในภาคอีสานมีความลาดชันสูง

...

เพื่อให้การสร้างแหล่งน้ำในภาคอีสานเป็นไปได้เร็วและง่าย ดร.สมเกียรติมองไปที่การชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันพัฒนาป่าบุ่งป่าทามที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสานให้เป็นแหล่งเก็บกักและสำรองน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เต็มที่.

สะ–เล–เต