กรณีหมุดคณะราษฎรที่หายไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พูดในลักษณะเป็นกลางๆว่า ได้รับรายงานแล้ว และมอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง และฝ่าย ตำรวจติดตามสืบสวนสอบสวนต่อไป แต่ไม่อยากให้เป็นประเด็นในเวลานี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เราเป็นประชาธิปไตยมากกว่า 80 ปีแล้ว ผมเองก็ยืนยันว่าเป็นประชาธิปไตย”
แต่ปฏิกิริยาของหน่วยงานต่างๆของรัฐ เป็นไปในลักษณะปัดสวะให้พ้นตัว ฝ่ายตำรวจอ้างว่าประชาชนไม่มีสิทธิร้องทุกข์ เพราะไม่ใช่เจ้าของหมุด ไม่ใช่ผู้เสียหาย ส่วนผู้ว่าราชการ กทม. (ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ของ คสช.) อ้างว่าเกิดไม่ทันปี 2475 จึงบอก ไม่ได้ว่าหมุดหายไปไหน แม้แต่กล้องโทรทัศน์ วงจรปิด 11 ตัว ในบริเวณเดียวกันก็ยังหาย
ส่วนกรมศิลปากรออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ และเป็นวิชาการอ้างว่า หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุ เนื่องจากเป็นวัตถุที่ พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นำมาติดตั้งไว้เมื่อปี 2479 หลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 4 ปีมิใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ เป็นเพียงเครื่องหมายระบุจุดที่เคยประกาศแถลงการณ์
แต่เคราะห์ดีที่นายวิษณุ เครืองาม ได้ชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชน ให้หูตาสว่างขึ้นบ้าง ไม่ถึงกับหลงเชื่อไปตามคำขู่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายกล่าวว่า ในกฎหมายมีอยู่ 2 คำ คือ “ร้องทุกข์” กับ “กล่าวโทษ” ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ และเป็นผู้เสียหาย แต่ประชาชน ทั่วไปมีสิทธิ “กล่าวโทษ” ต่อตำรวจได้ เป็นหน้าที่ของพลเมืองดี
วิวาทะเรื่องหมุดคณะราษฎร สะท้อนถึงความแตกต่างด้านความคิดทาง การเมือง ฝ่ายหนึ่งอาจเรียกได้ว่า “อิสรภาพนิยม” ยึดหลักการประชาธิปไตย อีกฝ่ายยึดแนวคิด “อำนาจนิยม” ไม่ชื่นชมและไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เห็น ความสำคัญของหมุดคณะราษฎร หรือ “หมุด ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เป็นเพียงแผ่นทอง เหลืองที่ไร้ค่า
...
ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยมองว่า แม้จะเป็นเพียงหมุดทองเหลือง แต่เป็น “หมุด ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” จึงเป็นสัญลักษณ์ของกำเนิดประชาธิปไตยในประเทศไทย นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หมุดไม่มีราคาค่างวดอะไรนัก แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และจิตใจอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำให้หมุดหาย ไม่ได้คำนึงถึงความปรองดองในชาติ
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลางถนนราชดำเนิน ที่ประดิษฐานพานทองรองรับรัฐธรรมนูญ เป็นอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้จะเป็นเพียงวัตถุ แต่มีคุณค่าสูง เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเมืองและการปกครองประเทศ ไทย กรมศิลปากรจะยอมรับหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของกรมศิลปากร.