กรณีหมุดคณะราษฎรที่หายไป อาจจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะมีผู้อาสาเป็นหนังหน้าไฟ แจ้งความต่อตำรวจ สน.ดุสิตไว้เป็นหลักฐาน และขอให้ช่วยตามหมุดที่หายไปจากบริเวณพระบรมรูปทรงม้าคืน ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการมูลนิธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมยื่นหนังสือถึงนายก-รัฐมนตรี หากไม่มีการดำเนินการใดๆอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญต่อไป
หมุดที่หายไปอย่างลึกลับเป็นแผ่น โลหะหล่อรูปทรงกลม มีข้อความว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ” ปักอยู่ที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นจุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ยืนอ่านคำประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย เป็นประชาธิปไตย
จะชอบคณะราษฎรหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าหมุดที่หายไป เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเมืองและการปกครองประเทศไทย แม้จะมีหมุดใหม่ที่มีข้อความใหม่ว่า “ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ฯลฯ” ก็ไม่อาจลบล้างของเดิมได้ ดังตัวอย่างคณะรัฐประหารบางคณะ เคยเปลี่ยนคำขวัญของคณะราษฎร
เปลี่ยนจาก “ชาติ ศาสนา พระมหา กษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” ตัดคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ทิ้งไป ในช่วงที่ประเทศไทย “ว่าง” รัฐธรรมนูญที่แท้จริง ที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ไม่สามารถตัดออกไปจากการเมืองประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในยามที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แม้แต่ในยุคเผด็จการก็ยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อแสดงความชอบธรรมของอำนาจ
นายยุทธพร อิสรชัย อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หมุดคณะราษฎรเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสำคัญ เป็นจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านคำประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลที่ตามมาคือการเกิดของประชาธิปไตย รวมทั้งสิทธิเสรีภาพประชาชน แม้จะไม่มีหมุดนี้ แต่ประชาธิปไตยจะไม่มีวันเลือนหาย ไปจากสังคมไทย
...
หมุดที่หายไปอาจเรียกว่า “หมุดคณะราษฎร” เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้เพื่อแสดงว่า เป็นจุดที่ “คณะราษฎรก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ฉะนั้นจึงอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ก็ได้ หมุดจึงเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาปกครองประเทศ
จะชอบหรือไม่ชอบคณะราษฎรก็ตาม แต่อุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ตั้งไว้เกือบ 85 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่สัมฤทธิผล ไม่ว่าจะเป็นหลัก 6 ประการ อันได้แก่หลักเอกราชของประเทศ หลักความสงบและรักษาความปลอดภัยในประเทศ หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน การส่งเสริมการศึกษาของประชาชน ก็ยังได้รับการสืบทอดต่อจนถึงวันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ 20 ของประเทศ.