สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เชิญผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าพบ อาทิ วอลมาร์ท เป๊ปซี่ โบอิ้ง ไอบีเอ็ม จีเอ็ม โดย ทรัมป์ บอกกับผู้บริหารเหล่านี้ว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯกำลังทบทวนแก้ไข กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ (Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act) เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ได้สะดวกขึ้น
การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เท่ากับว่า ทรัมป์ กำลังนำระบบเงินสหรัฐฯกลับไปสู่ “ยุคฟองสบู่” ก่อนเกิด วิกฤติซับไพร์ม สินเชื่อเน่าจากอสังหาริมทรัพย์ จนเป็นเหตุให้บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ เลห์แมน บราเดอร์ ล้มละลาย กลายเป็น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ถล่มไปทั่วโลก
กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ มีขึ้นหลังจาก วิกฤติซับไพร์มปี 2008 เพื่อบังคับให้ ผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน เปิดเผยข้อมูลธุรกรรมต่อ ก.ล.ต.สหรัฐฯ และ คณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการซื้อขายอนุพันธ์นอกตลาดต้องชำระเงินผ่านสำนักงานหักบัญชี ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ แก้ไขผ่อนคลายกฎหมายฉบับนี้ การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นวอลสตรีทจะกลับไปสู่ยุคฟองสบู่อีกครั้ง ใครมือยาวสาวได้สาวเอา คนโง่เป็นเหยื่อของคนฉลาด
ใครได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Big Short ที่ฮอลลีวูดสร้างขึ้นมาตีแผ่เรื่องนี้คงจะได้ฟัง คำด่าบริษัทจัดอันดับหุ้นและกองทุนยักษ์ใหญ่ อย่าง มูดี้ส์ และ เอสแอนด์พี ได้อย่างเจ็บแสบว่า เป็นบริษัทขายเครดิต แถมยังตอบหน้าตาเฉยว่า ถ้าบริษัทเขาไม่ขายให้ ลูกค้าก็ไปซื้อเครดิตจากบริษัทคู่แข่ง แสดงว่าอันดับเครดิตจากบริษัทเหล่านี้เชื่อถือไม่ค่อยได้
นับตั้งแต่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ดัชนีหุ้นดาวโจนส์พุ่งทะลุ 20,000 จุดขึ้นไปอย่างรวดเร็ว วันศุกร์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 20,453 จุด แต่ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ที่เพิ่มขึ้น ยังไม่น่าสนใจเท่ากับ ตัวเลขอีกกลุ่มหนึ่ง ที่วารสาร “การเงินธนาคาร” นำมาเปิดเผยในคอลัมน์ World Exclusive ฉบับเดือนเมษายน ระบุว่า วันนี้ ครัวเรือนสหรัฐฯ มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ถึง 92.8 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเงินบาทก็ 3,248 ล้านล้านบาท เกือบ 250 เท่าจีดีพีประเทศไทยทั้งปีเลยทีเดียว
...
ปัจจัยหลักที่ทำให้ทรัพย์สินในครัวเรือนสหรัฐฯเพิ่มขึ้น Fed หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่า มาจาก 2 ปัจจัย คือ ราคาหุ้นในตลาดหุ้นวอลสตรีทพุ่งขึ้นไปอย่างมากมาย (จนไร้เหตุผล) ส่งผลให้ราคาบ้านในสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปตามตลาดหุ้น เสมือนหนึ่งไม่เคยเกิด “ฟองสบู่แตก” มาก่อน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ราคาบ้านในสหรัฐฯร่วงลงมา 30-40 เปอร์เซ็นต์ จากวิกฤติซับไพร์ม แต่วันนี้ทุกคนลืมไปแล้วเพราะราคาบ้านขึ้นเอาๆ
ไตรมาส 4 ปี 2016 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นวอลสตรีทเพิ่มขึ้นถึง 8% ส่งผลให้ครัวเรือนสหรัฐฯร่ำรวยขึ้นถึง 728,000 ล้านดอลลาร์ 25.48 ล้านล้านบาท สองเดือนแรกของปี 2017 ดัชนีหุ้นดาวโจนส์พุ่งขึ้นไปอีก 6% ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปอีก 557,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในครัวเรือนสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 26,500 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเงินบาทก็ปาเข้าไป 927,500 ล้านล้านบาท เขียนเป็นตัวเลขไม่ถูกเอาเลยทีเดียว
ขนาดมี กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ ควบคุม ฟองสบู่อสังหาของครัวเรือนสหรัฐฯ ก็ยังใหญ่กว่าตอนที่ฟองสบู่แตกในปี 2008 ไม่เห็นฝุ่น สินเชื่อบ้านทุกบาทชาวอเมริกันก็กู้มาจากธนาคารทั้งสิ้น ไม่ต่างไปจากสมัยวิกฤติซับไพร์ม แต่ แบงก์ชาติมะกัน ก็ไม่ว่าอะไร
หวังเพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว เพื่อจะได้ขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตั้งใจไว้
วันนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งร่ำรวยมาจาก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กำลังจะ แก้ไขกฎหมายดอดด์–แฟรงค์ เพื่อเปิดช่องทางให้ธนาคารปล่อยกู้อสังหาได้ง่ายขึ้น ทำให้ “ฟองสบู่ลูกใหม่” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผมดูตัวเลขแล้วโตกว่าฟองสบู่ปี 2008 เยอะ อาจแตกโพละเข้าสักวัน หายนะจะยิ่งกว่า เขื่อนฮูเวอร์ แตกเสียอีก ผมก็เก็บมาเล่าสู่กันฟัง “เงินยังเป็นพระเจ้า” อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ใน โลกออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ ก็ตาม.
“ลม เปลี่ยนทิศ”