วันนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก จะเปิดซองเสนอราคา กลุ่มธนโฮลดิ้ง ผู้เสนอราคารายที่ 3 หลังจากที่ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในส่วนที่ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอกล่องที่ 6 และกล่องที่ 9 ที่เป็นข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคา ด้วยเหตุผลว่ายื่นเกินเวลา แต่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าสาระสำคัญคือการแสดงตัวของผู้ประมูล ส่วนการขนเอกสารถึงจุดช้าไม่กระทบต่อโครงการ

การเปิดซองวันนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เชิญ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีทีเอส ผู้เสนอราคารายที่ 1 กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม ผู้เสนอราคารายที่ 2 ที่ได้เปิดซองราคาไปแล้ว เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดซองราคาด้วย เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็มีมติขอให้ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯได้ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูลภายในเดือนมีนาคม 2563

การขอให้ ศาลปกครองสูงสุด พิจารณา พิพากษาคดีใหม่ ในคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาตัดสินไปแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

เมื่อ คณะกรรมการคัดเลือกฯ เดินเกมเช่นนี้ การปิดซองราคากลุ่มซีพี หรือ กลุ่มธนโฮลดิ้ง ในวันนี้ คงยังประกาศผลผู้ชนะการประมูลไม่ได้ ต้องรอจนกว่า อัยการสูงสุด จะพิจารณาเสร็จ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกฯร้องขอหรือไม่ ถ้า อัยการสูงสุดเห็นชอบ ตามที่ร้องขอ ศาลปกครองสูงสุดก็ต้องพิจารณาอีกว่าจะรับคำร้องหรือไม่ กรณีนี้อาจถึงขั้นต้อง เข้าที่ประชุมใหญ่ ศาลปกครองสูงสุด หรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

...

เกมนี้ถือว่า ไม่ธรรมดา แม้แต่ขั้นตอนเดียว

การเปิดซองผู้เสนอราคาก่อนหน้านี้ 2 ราย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีทีเอส ซึ่งประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ บมจ.ซิโน–ไทยฯ เสนอผลตอบแทนรัฐที่ 3.01 แสนล้านบาท และ กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เทียม เสนอผลตอบแทนที่ 1.1 แสนล้านบาท งานนี้จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ กลุ่มซีพี กับ กลุ่มบีทีเอส ใครจะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าใน สัญญาสัมปทาน 50 ปี สนามบินอู่ตะเภา เมืองการบินอู่ตะเภาพื้นที่ 6,500 ไร่ ที่มีมูลค่ามหาศาลในอนาคต

ก่อนหน้านี้ กลุ่มซีพี ชนะการประมูล รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา–สุวรรณภูมิ–ดอนเมือง โดยเสนอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุด 117.227 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินอู่ตะเภา โดย รถไฟความเร็วสูงจะมีสถานีอู่ตะเภาตั้งอยู่ใต้สนามบินอู่ตะเภา เหมือนเมืองใหญ่ในต่างประเทศ เมื่อผู้โดยสารลงจากเครื่องบินปุ๊บก็สามารถนั่งรถไฟความเร็วสูงใต้สนามบินไปยังเมืองต่างๆได้ทันที

ถ้า กลุ่มซีพี ชนะการประมูล สนามบินอู่ตะเภา โครงการเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภากับรถไฟความเร็วสูงก็ราบรื่น เพราะบริหารภายใต้กลุ่มบริษัทเดียวกัน แต่ถ้า กลุ่มบีทีเอสชนะการประมูล การสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงใต้สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มซีพี ก็ต้องไปเจรจากับ กลุ่มบีทีเอส ซึ่งคงต้องมีค่าใช้จ่าย และอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง

เท่าที่ผมสังเกตุมาตลอด ปัญหาเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลไทยทุกโครงการ ล้วนมีปัญหาในเรื่อง Design Thinking หรือ การคิดในเชิงออกแบบ ทั้งสิ้น คือ คิดแคบ คิดสั้น ไม่ยึดประชาชนผู้ใช้บริการเป็นหลัก คิดแต่ประโยชน์ของรัฐ หรือใครก็ไม่รู้ เป็นอีกเรื่องเศร้าของประเทศไทย ในยุคสมัยนี้ แทนที่จะทำได้เร็วกลับทำได้ช้าเกือบทุกโครงการ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”