ก็เป็นจริงอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงล่วงหน้า ไม่มีอะไรตื่นเต้นสักอย่าง ในวันพุธที่ 18 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ลงมติ กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นสักอย่างจริงๆ การอภิปรายก็งั้นๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ทุกอย่างล้วนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น

ไปดูรายละเอียด การเมืองไทยวันพุธ กันเสียหน่อยนะครับ เพื่อบันทึกไว้เป็น ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย ในยุครัฐธรรมนูญ 2560

ช่วงเช้า 09.47 น. คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดประชุมสภาให้อภิปราย ญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่มีการลงมติเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ และ การแถลงนโยบายต่อสภาโดยไม่ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการตามนโยบาย

คุณชวน ยืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมาแล้ว แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯและรองประธานสภาฯได้หารือร่วมกันมีความเห็นว่า ญัตตินี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผล ผูกพันต่อทุกองค์กรต่อเมื่อเป็นคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงคำสั่งไม่รับ พร้อมกับมีความเห็นประกอบ จึงไม่ถือว่าเป็นคำวินิจฉัยตามมาตรา 211 สภาฯจึงสามารถพิจารณาญัตตินี้ได้ตามมาตรา 152 และข้อบังคับของการประชุม

...

ก็ถือเป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องของการเมืองไทย

ผมเขียนบทความนี้ช่วงบ่ายวันพุธ ยังไม่ได้ยินคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทำไมจึงไม่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยละเว้นข้อความสำคัญคือ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายค้าน คุณปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบได้หรือไม่ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

เวลา 14.00 น. ก็มีข่าวดีสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาอีกเรื่อง เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ถ้าเป็นจะส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) โดย ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 98 (15) ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

ศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า คำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความไว้ในคำพิพากษาที่ 5/2543 ว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ คือ ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายปฏิบัติงานประจำ อยู่ใน กำกับดูแลของรัฐ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ไม่ให้ข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ นอกจากข้าราชการการเมือง เข้ามาเป็นนักการเมือง จึงกำหนดให้รวมถึงพนักงานลูกจ้างรัฐ การกำหนดเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเพื่อให้ครอบคลุมตำแหน่งที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ในลักษณะเป็นพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้ ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจ และ เป็นตำแหน่งรัฏฐาธิปัตย์ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานรัฐ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่ง จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 98 (15) พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไปได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”