เป็นความเคลื่อนไหวที่เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนพรรคการเมืองทั้งในขั้วฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เริ่มประกาศจะปรับเปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. รวมไปถึงเรื่องที่มาของ ส.ว.จำนวน 250 คน

นอกจากนี้ในเรื่องการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทั้งปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการเมือง เริ่มที่จะถูกพูดถึงมากขึ้น ล่าสุดในการเสวนา “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ระบุช่วงหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป้าหมายคืออะไรยังมองไม่เห็น

ที่บอกว่าทำเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่องนี้ ที่ควรทำอย่างการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปตำรวจ แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างปัญหาจากการซื้อขายตำแหน่งเพื่อปราบโกงอย่างที่ประกาศไว้ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ปัญหาในตอนนี้คือ ปล่อยให้การเมืองเดินไปแบบเดิมๆ โดยไม่ได้หยิบยกมาแก้ปัญหาจริงจัง

ทั้งนี้ ปัญหาการแบ่งฝ่ายจะมีต่อไป และความขัดแย้งจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาความขัดแย้งมาคลี่ออก และออกแบบระบบเพื่อหาคำตอบร่วมกันให้ได้ ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากทุกฉบับ ทำให้การแก้ไขยาก แต่ถ้าไม่แก้ แม้จะมีการเลือกตั้งอีกก็จะเป็นแบบเดิม

ขณะเดียวกัน ประเด็นการปฏิรูปก็มีการหยิบยกไปพูดถึงในที่ประชุมวุฒิสภาในการพิจารณารายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศในรอบ 3 เดือนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 โดยมี ส.ว.อภิปรายให้ความเห็นถึงแผนการปฏิรูปประเทศคือสิ่งชี้วัดผลงานรัฐบาล เป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติให้สำเร็จใน 5 ปี นับจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้

...

โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการเมือง แต่การเลือกตั้ง ส.ส. พบเรื่องร้องเรียนซื้อเสียงจำนวนมาก ขณะที่การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาไร้ความคืบหน้า แม้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนการศึกษา แต่ยังไม่ออกกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำภายใน 1 ปี ทำให้คุณภาพการศึกษาที่เน้นการกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้น

ถึงตรงนี้นอกจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ น่าจะต้องยกเป็นวาระสำคัญของพรรค การเมือง โดยเฉพาะในส่วนพรรครัฐบาลที่มีอดีตแกนนำมวลชนและเคยชูประเด็นการปฏิรูปมาตลอด ที่สำคัญกว่านั้น กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นความท้าทายตัวผู้นำประเทศ จะปล่อยให้โจทย์ปฏิรูปเป็นเพียงวาทกรรมอันสวยหรูเท่านั้นหรือไม่.